หลังจากช่วงเช้าที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยหรือ ททท. ได้นำคณะสื่อมวลชนมาตามรอยไทยเที่ยว เที่ยวไทย วีถีไทยมายังอ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย เพื่อเข้าชมการแต่งตัวของนาคและช้างที่ได้เเต่งกายอย่างสวยงามตามประเพณีไทยพวนและนาคแต่ละบ้านได้ขี่ช้างจากบ้านมายังวัดหาดเสี้ยว อ. ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัยเพื่อเข้าร่วมประเพณีแห่ช้างบวชนาคไทยพวนบ้านหาดเสี้ยวหรือประเพณี "งานบวชช้าง"แล้วนั้น
ในช่วงบ่ายที่นาคแต่ละบ้านเเดินทางมาถึงก็ได้เข้าร่วมพิธีรับศีลจากพระภิกษุที่วัดหาดเสี้ยวพร้อมกัน โดยนาง รุ่งอรุณ คำโมง นายกเทศมนตรีตำบลหาดเสี้ยวเล่าว่า ประเพณีดังกล่าวถือเป็นประเพณีดั้งเดิมแต่อดีตของชาวไทยพวน ในแต่ละปีนั้นจะมีนาคมาประกอบพีธีดังกล่าวปีละเกือบ 20 รูป โดยปีนี้มีทั้งสิ้น 18 รูป แบ่งเป็นพระ 9 รูปและสามเณร 9 รูป แต่ทุกรูปจะไม่บวชที่วัดเดียวกันหมด เพียงแค่มาประกอบพีธีร่วมกันที่วัดหาดเสี้ยวเท่านั้น โดยเมื่อไปถึงวัดแล้วนาคจะลงจากหลังช้างไปสักการะศาลพระภูมิ จากนั้นจะมารับศีลจากพระภิกษุ และขบวนช้างที่มีนาคนั่งอยู่ก็จะออกเดินทางจากวัดหาดเสี้ยวผ่าน ตลาด หมู่บ้านและมาข้ามแม่น้ำยมที่ซอย เทศบาล 17 ต.หาดเสี้ยวร่วมกันทั้งหมด โดย นาง รุ่งอรุณ เล่าด้วยว่า เหตุที่นำช้างมาลงแม่น้ำยม เนื่องจากในอดีตการบวชนาคจะมีนาคทั้งสองฝั่งแม่น้ำ คือ ฝั่งต.หาดเสี้ยวและต.หาดสูงร่วมกันบวช ซึ่งนาคฝั่งต.หาดสูงต้องนำช้างและขบวนแห่เดินข้ามแม่น้ำยมมาและข้ามแม่น้ำยมกลับ ทำให้นาคฝั่งต.หาดเสี้ยวต้องนำขบวนมาส่งกลับฝั่ง จึงเป็นประเพณีที่ยึดถือกันมาตลอดว่าขบวนนาคฝั่งหาดเสี้ยวจะนำช้างพร้อมนาคข้ามแม่น้ำยมมาส่งนาคฝั่งต.หาดสูงกลับเสมอ
ซึ่งหลังจากข้ามแม่น้ำเสร็จแล้ว นาคฝั่งหาดเสี้ยวจะเดินวนกลับเพื่อขึ้นฝั่งตัวเองและแยกย้ายกันไปฉลองตามบ้าน โดยการฉลองก็จะเป็นการฉลองเหมือนการบวชทั่วๆไป ซึ่งจะมีบัตรเชิญผู้รู้จักมาร่วมงานก่อนที่จะนำตัวนาคไปบรรพชาอุปสมบทในวันรุ่งขึ้นโดยจะมีการจัดเลี้ยงอาหารเช้าและจัดขบวนแห่จากบ้านเดินเท้าไปยังวัดที่จะบวช โดยนาคจะแต่งกายชุดขาวเดินประนมมือ ส่วนการบวชนั้นก็แล้วแต่แต่ละบ้านว่าจะให้บวชกี่วันหรือกี่เดือนและจะบวชภายในเย็นวันนี้ที่เป็นการแห่นาคหรือจะบวชในวันรุ่งขึ้นก็ได้ แต่ในปีนี้พบว่านาคทุกรูปจะบวชพร้อมกันในช่วงค่ำนี้ อย่างไรก็ดีในทุกปีส่วนใหญ่มักนำนาคกลับมาฉลองงานที่บ้านของตัวเองก่อนจะนำไปบวชที่วัดที่ได้แจ้งไว้ นาง รุ่งอรุณ เล่าต่อว่า ปัจจุบันช้างที่นำมาแห่นาคนั้นหาได้ยากขึ้น ขณะนี้ต้องนำช้างมาจากศูนย์อนุรักษ์ช้างจ.ลำปางแทนสำหรับประเพณีบวชช้างหรือที่เรียกว่าแห่ช้างนั้นตามหลักฐานศิลาจารึกวัดหาดเลี้ยวพบว่ามีมานานกว่า 171 ปีแล้ว ตั้งแต่พ.ศ. 2387 และเหตุที่นำช้างมาร่วมในพิธีบรรพชานั้นสืบเนื่องจากมีความเชื่อทางพุทธศาสนาว่า พระเวสสันดรได้ให้ช้างเผือกคู่บารมีที่ชาวเมืองเชตุดรถือว่าเป็นมงคลหัตถีแก่พราหมณ์ทั้ง 8 จากแคว้นกลิงคราษฎร์ที่มาทูลขอเพื่อเป็นมงคลแก่บ้านเมืองที่ประสบทุพภิกขภัย
และยังมีความเชื่ออีกตำนานหนึ่งที่เล่าว่ามาจากคำสอนของพระพุทธองค์ที่มุ่งให้ผู้บวชถือปฏิบัติตัวเพื่อไปสู่โลกอุดร คือธรรมอันพ้นจากวิสัยของโลก ได้แก่ พระนิพพาน แต่คนทั่วไปเข้าใจว่า อุดร หมายถึงทิศเหนือ ซึ่งมีสัญลักษณ์ คือ ช้าง และชาวไทยพวนยังเรียกสัญลักษณ์ประจำทิศเหนือว่า "โงนงก" คือ ช้างและได้นำมาเป็นส่วนร่วมในขบวนแห่มาจนทุกวันนี้นั่นเอง