*รัฐบาล-คสช. ชี้แจงใช้มาตรา 44 จะมีผลต่อคนประสงค์ร้ายต่อประเทศเท่านั้น*

07 เมษายน 2558, 15:43น.


การประกาศใช้มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีด้านกฎหมาย พร้อมด้วยพ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พล.ต.วีรชน สุคนธปฏิภาค คณะทำงานนายกรัฐมนตรี นายดอน ปรมัตภ์วินัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และนายพิริยะ เข็มพล รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ร่วมบรรยายเนื้อหาและรายละเอียดเกี่ยวกับประกาศ คสช. ฉบับที่ 3/2558 เรื่อง การรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ ภายหลังมีประกาศพระบรมราชโองการให้ยกเลิกการประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักรแล้ว โดยให้นายกรัฐมนตรีอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ให้คณะทูตานุทูตประจำประเทศไทย อาทิ สหภาพยุโรป แคนาดา เนอเธอร์แลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ ปากีสถาน อิหร่าน เกาหลีใต้ บรูไน มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ และสื่อต่างประเทศ อาทิ สถานีโทรทัศน์ ABC , Voice Of America , CNN , รอยเตอร์ สำนักข่าว AP เกียวโด , NHK และองค์การระหว่างประเทศเข้ารับฟัง



นายวิษณุ กล่าวว่า ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยประสบกับสถานการณ์ไม่ปกติ จึงจำเป็นต้องใช้กฎหมายพิเศษเข้ามาควบคุมและดูแลสถานการณ์ให้เป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย ก่อนที่ประเทศจะเข้าสู่ช่วงเปลี่ยนผ่าน ในการปฎิรูปประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป และในปัจจุบันการใช้มาตรา 44 เป็นเพียงการนำกฎหมายมาใช้แก้ปัญหาในกรณีฉุกเฉินและสามารถใช้ได้ในระยะยาว โดยรัฐบาลจะใช้มาตรา 44 แก้ไขปัญหาด้วยความระมัดระวังและใช้เท่าที่จำเป็นโดยคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน ทั้งนี้ มาตรา 44 ไม่ใช่เรื่องใหม่ เคยใช้มาแล้ว 6ครั้ง ในสมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จอมพลถนอม กิตติขจร นายสัญญา ธรรมศักดิ์ นายธานินทร์ กรัยวิเชียร พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ และนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี



พ.อ.วินธัย กล่าวว่า จากกรณีเกิดความขัดแย้งในสังคมอย่างกว้างขวาง การปลุกระดมให้เกิดความขัดแย้ง เจ้าหน้าที่จึงต้องใช้กฎหมายดูแลรักษาความสงบเรียบร้อย ซึ่งที่ผ่านมาได้ใช้ด้วยความระมัดระวัง และใช้เท่าที่จำเป็น และมีการปฏิบัติตามหลักสากล ปัจจุบันได้ยกเลิกกฎอัยการศึกแล้ว และอาศัยมาตรา 44 ในการให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อย และปราบปรามการกระทำผิด ใน 4 เรื่อง คือ 1.ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ 2.ความมั่นคง มาตรา 113-118 3.ความผิดว่าด้วยอาวุธปืน และ4.ความผิดต่อการฝ่าฝืนคำสั่งคสช. ซึ่งหากทั้ง 4 เรื่องไม่ได้รับการแก้ไข จะเป็นตัวบั่นทอนการพัฒนาประเทศและขัดขวางความปรองดองของคนในชาติ จึงมีความจำเป็นต้องขอความร่วมมือในการนำเสนอข่าวสารและงดการชุมนุมทางการเมือง โดยประชาชนทั่วไปจะไม่ได้รับผลกระทบ สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่จะมีผลกับคนที่ประสงค์ร้ายและจงใจก่อเหตุความไม่สงบในประเทศไทยเท่านั้น

ข่าวทั้งหมด

X