ชาวไทยพวน จังหวัดสุโขทัยร่วมสืบทอดประเพณีบวชช้างหาดเสี้ยว

07 เมษายน 2558, 11:25น.


อีกหนึ่งประเพณีของจ.สุโขทัย ในกลุ่มชาวไทยพวนก็คือประเพณีบวชช้างหาดเสี้ยวหรือ งานบวชช้าง ที่ อ.ศรีสัชนาลัยซึ่งจะเริ่มตั้งแต่ช่วงเช้า ที่มีการแต่งตัวนาคนั้น ตามประเพณีเราจะเรียกว่าวันแห่นาค โดยเจ้าภาพจะโกนผม โกนคิ้ว ผู้ที่จะบวชและแต่งตัวให้นาคอย่างสวยงามตามประเพณีไทยพวน โดยเครื่องแต่งตัวนาคจะประกอบด้วยผ้านุ่ง ผ้าม่วง ผ้าไหม เสื้อกำมะหยี่หรือเครื่องนุ่งห่ม พร้อมสวมเครื่องประดับต่าง ๆ เช่น เข็มขัดนาก เพชร  ซึ่งจะสื่อถึงความหลงใหลในทรัพย์ภายนอกและพร้อมที่จะไปแสวงหาทรัพย์ภายใน ทั้งนี้นาคต้องสวมแว่นดำทุกคน เพราะเชื่อกันว่าก่อนจะบรรพชานาคยังเป็นผู้มืดมิดในธรรม เพราะยังไม่ได้ศึกษาพระธรรมวินัย ส่วนศีรษะนาคจะสวมเทริด หรือเรียกว่า กระโจม อันเป็นเครื่องทรงของพระอินทร์  พร้อมทั้งมีกระจกที่ติดสองข้างหูเพื่อไว้สำรวจตัวเอง และให้พร้อมที่จะสละทางโลก



ส่วนควาญช้างและญาติของนาคจะไปแต่งตัวให้ช้างขณะรอนาคแต่งตัว โดยจะนำช้างลงไปอาบน้ำในแม่น้ำยม ก่อนแต่งผ้าคลุมหัวช้างพร้อมผ้าปูลาดบนหลังช้าง และนำโซ่กระดึงคล้องคอหรือหลังให้มีเสียงดังตลอดทางที่ช้างเดินระหว่างแห่ จากนั้นจะนำด้ายขวัญขาวแดงผูกแต่งที่งาช้าง ส่วนตามตัวช้างจะใช้ชอล์กเขียนคำขวัญ คติ หรือคำคมต่าง ๆ  เมื่อแต่งตัวให้นาคและช้างเสร็จก็จะจัดริ้วขบวนให้นาคนั่งบนคอช้างพร้อมกับประนมมือถือแผ่นหรือแป้นวงกลมที่เรียกว่า "สักกัจจัง" แปลว่า เครื่องหมายแห่งความเคารพ  พร้อมถือเครื่องประดับและเครื่องบูชาต่าง ๆ เช่น ดอกไม้ ธูป เทียน



โดยมีคณะญาติและเพื่อนๆ นั่งบนหลังช้าง และกางสัปทน หรือร่มที่ใช้กางขณะที่นาคแห่ขบวนบนหลังช้างซึ่งจะเป็นร่มใหญ่ ส่วนการจัดขบวนแห่นั้น เจ้าภาพจะนำหมวกสานเขียนชื่อนาคหรือคำหยอกล้อต่าง ๆ เป็นของชำร่วยให้แก่ผู้ที่ร่วมขบวนแห่เพื่อใช้กันแดด ตามด้วยขบวนแตรวง หรือกลองยาว เดินนำหน้าขบวนช้างจากบ้านถึงยังวัดหาดเสี้ยวที่เป็นที่จัดงานในช่วงบ่ายนั่นเอง ทั้งนี้ประเพณีบวชช้างหาดเสี้ยวมีมาแต่โบราณกาลของไทยพวนและแต่ก่อนจะจัดวันแห่ขึ้นทุกวันแรม 3 ค่ำเดือน 4 และบวชในวันแรม 4 ค่ำเดือน 4 ก่อนที่จะเปลี่ยนวันแห่มาเป็นทุกวันที่ 7 เมษายน และบวชบรรพชาทุกวันที่ 8 เมษายนของทุกปี



...ผสข.ธีรวัฒน์ สิทธิเกรียงไกร

ข่าวทั้งหมด

X