นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ยืนยันว่า การพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญในที่ประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ว่าจะเป็นไปตามกำหนด คือวันที่ 17 เม.ย.นี้อย่างแน่นอน โดยจะไม่มีการส่งร่างรัฐธรรมนูญให้สปช. ก่อนหน้านั้น ขณะที่กระบวนการพิจารณาของกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ยังอยู่ระหว่างการทบทวนถ้อยคำ และดูความถูกต้อง พร้อมทั้งชี้แจงว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มีบทบัญญัติว่าด้วยการสืบทอดงานปฏิรูป ด้วยการกำหนดให้มีสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศและคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปประเทศแห่งชาติ เพื่อให้การขับเคลื่อนการปฏิรูปดำเนินการต่อไปได้
ด้านนพ.ชูชัย ศุภวงศ์ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ยืนยันว่า กระบวนการปฏิรูปประเทศภายใต้กลไกที่ถูกออกแบบโดยรัฐธรรมนูญ เช่น สภาขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศและกรรมการยุทธศาสตร์, แนวทางการปฏิรูป 15 ด้าน ซึ่งส่วนใหญ่ได้กำหนดให้มีคณะทำงานขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่ จะสานต่อการปฏิรูปประเทศ หลังจากที่ร่างรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ รวมถึงการกำหนดให้มีกลไกขับเคลื่อนภาคประชาชน เช่น สมัชชาพลเมือง จะทำให้เกิดการสานต่ออย่างเชื่อมโยงในการปฏิรูปให้สำเร็จได้อย่างแน่นอน ขณะที่ สถานการณ์การเมืองหรือกรณีของกลุ่มการเมืองที่ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญหรือการปฏิรูปเชื่อว่าจะไม่เป็นปัญหา แต่จะมีส่วนช่วยเสริมงานปฏิรูป ในด้านการตรวจสอบ ติดตามการปฏิรูปในอนาคต เพราะหากงานปฏิรูปใดที่ไม่ได้เป็นไปตามกรอบจะได้รับการทักท้วง ส่วนประเด็นการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ที่ประชุมกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญส่วนใหญ่เห็นร่วมกันว่าควรมีการทำประชามติ หากสถานการณ์ทางการเมืองไม่เลวร้าย ก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เคยพูดไว้ว่าหากกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญมีความเห็นและเหตุผลใดต่อการทำประชามติ ขอให้ทำหนังสือไปถึงนายกฯ เพื่อให้พิจาณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ประเด็นทำประชามติ และสถานการณ์ทางการเมือง แต่ขณะนี้กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญยังไม่ได้หารือในประเด็นดังกล่าวอย่างเป็นทางการร่วมกัน
CR:แฟ้มภาพ