นายเนตร นาคสุข อดีตรองอัยการสูงสุด ที่มีคำสั่งไม่ฟ้อง นายวรยุทธ หรือบอส อยู่วิทยา ในคดีขับรถชนตำรวจเสียชีวิตเมื่อปี 2555 ซึ่งภายหลังโดนคณะกรรมการอัยการ(ก.อ.)มีมติให้ออกจากราชการ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 11 ก.ค. ได้ยื่นฟ้อง นายพชร ยุติธรรมดำรง ประธานคณะกรรมการอัยการ นายสิงห์ชัย ทนินซ้อน อดีตอัยการสูงสุด (อสส.) ต่อศาลปกครองสูงสุด เกี่ยวกับมติดังกล่าว เพื่อเพิกถอนคำสั่งลงโทษให้ออกจากราชการดังกล่าว และการสั่งคดี นายวรยุทธ เป็นการพิจารณาสั่งคดีที่ชอบด้วยกฎหมายทุกประการ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการแสวงหาข้อเท็จจริงของศาลปกครอง ซึ่งกว่าจะถึงวันนัดพิจารณาคดีครั้งแรกคงยังอีกนาน พร้อมย้ำว่า การสั่งคดีดังกล่าวเป็นการสั่งคดีตามพยานหลักฐาน ผ่านการทำความเห็นของพนักงานอัยการตามลำดับชั้นมา 3-4 คน ที่เห็นสั่งไม่ฟ้อง คดีมีประจักษ์พยานผู้เห็นเหตุการณ์ไม่ว่าจะเป็น พล.อ.ท.จำนวน 2 คน และ นายจารุชาติ มาดทอง ที่ให้การความเร็วไม่เกินกว่าที่กฎหมายกำหนด
รวมถึงการให้ความเห็นของผู้เชี่ยวชาญไม่ว่าจะเป็น พ.ต.ท.สมยศ แอบเนียม ที่ให้ความเห็นว่าความเร็วรถไม่เกินกว่าที่กฎหมายกำหนด โดยการเอารอยรถชนกันมาเทียบเคียงแล้วพบว่าการชำรุดมีไม่มาก และผู้เชี่ยวชาญของศาลในทางตรวจพิสูจน์เครื่องและอุปกรณ์ส่วนควบของยานยนต์ที่เกี่ยวเนื่องกับอุบัติเหตุ กองบังคับการตำรวจจราจร ที่ขึ้นทะเบียนกับศาลยุติธรรม อย่าง พ.ต.ท.สุรพล เดชรัตนวิชัย ที่ให้ความเห็นไว้อย่างละเอียด แต่สรุปได้ว่าเป็นไปไม่ได้ที่นายบอส จำเลยจะขับด้วยความเร็วถึง 180 กิโลเมตรต่อชั่วโมง รวมถึง รศ.ดร. สายประสิทธิ์ เกิดนิยม ต่างให้ความเห็นตรงกันหมดว่าความเร็วไม่เกินกว่าที่กฎหมายกำหนด จะมีก็คือ พ.ต.ต.ธนสิทธิ แตงจั่น ที่ให้การว่าจำเลยขับรถเร็ว 179 กม./ชม. แต่มาภายหลังกลับคำให้การ โดยคำนวณใหม่ซึ่งก็อ้างว่าคำให้การในตอนแรกนั้นไม่ถูกต้องเนื่องจากความรีบเร่ง และก็มีการใช้วิธีคำนวณใหม่ที่เชื่อถือได้ว่าความเร็ว 79 กม./ชม. ซึ่งเมื่อตนพิจารณาแล้วก็เห็นว่าวิธีการคำนวณใหม่น่าเชื่อได้ ประกอบกับดูพยานหลักฐานหลายอย่างจึงมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง นายวรยุทธ ถ้าให้ย้อนกลับไปทำคำสั่งใหม่ตามพยานหลักฐานที่ปรากฏตนก็จะยังคงสั่งไม่ฟ้อง เพราะเขาไม่ผิด
ด้านการประชุมคณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) เมื่อวันที่ 23 พ.ย มีวาระสำคัญการพิจารณาลงมติผลการสอบสวนวินัยร้ายเเรง นาย ชัยณรงค์ แสงทองอร่าม หรืออัยการ ช.ช้าง อดีตอัยการอาวุโส ซึ่งอยู่ในห้องเปลี่ยนความเร็วรถยนต์คดีดังกล่าวและถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ให้คำแนะนำในการกำหนดความเร็วรถยนต์คันดังกล่าวไม่เกิน 80 กม./ชม. แม้ว่า นายชัยณรงค์ได้ลาออกจากราชการไป แต่ต่อมาที่ประชุม ก.อ.ก็ได้มีคำสั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงนายชัยณรงค์ โดยผลการสอบสวนวินัยร้ายแรงของคณะกรรมการเห็นว่า การกระทำของนายชัยณรงค์ เป็นความผิดตามที่ถูกกล่าวหาในกรณีที่ไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการแก้ไขเวลาความเร็วและไม่ทุ่มเทให้ราชการ เนื่องจากขณะที่เข้าไปมีส่วนในการแก้ไขเวลาความเร็วอยู่ในเวลาทำงานราชการคณะกรรมการเห็นว่า การกระทำเป็นความผิดวินัยร้ายแรงเสนอให้ลงโทษไล่ออกจากราชการ ซึ่งเป็นบทลงโทษขั้นสูงสุด
แต่ต่อมา สำนักงาน ก.อ.พิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นความผิดวินัยไม่ร้ายแรงเห็นควรงดความดีความชอบ 3 ปี พร้อมส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดพิจารณา ซึ่ง น.ส.นารี ตัณฑเสถียร อัยการสูงสุด พิจารณาแล้วเห็นว่า การกระทำของนายชัยณรงค์เป็นความผิดวินัยร้ายแรง แต่เนื่องจาก นายชัยณรงค์ไม่เคยมีประวัติเสื่อมเสีย หรือถูกตั้งกรรมการสอบวินัยและอุทิศตนในราชการมาตลอดยกเว้นกรณีนี้ จึงเห็นควรลดโทษจากไล่ออกจากราชการเป็นให้ออกจากราชการ ที่ประชุม ก.อ.มีมติเสียงข้างมากเห็นด้วยกับบทลงโทษของอัยการสูงสุด คือให้นายชัยณรงค์ออกจากราชการ แต่ยังสามารถรับบำนาญได้
#บอสอยู่วิทยา
#อัยการสูงสุด