ตามที่ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เมื่อวันที่ 30 พ.ย.2565 ระบุ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มอยู่ที่ร้อยละ 6.3, ร้อยละ 3.0 และร้อยละ 2.1 ในปี 2565, 2566 และ 2567 ตามลำดับ โดยผ่านจุดสูงสุดในไตรมาสที่ 3 ปี 2565
เพจ ธปท.ชี้แจงข้อสงสัย ผลการประชุม กนง.
-การปรับประมาณการเงินเฟ้อทั่วไปปี 2566ที่ปรับขึ้นจาก 2.6% เป็น 3.0% จะทำให้กนง.ต้องปรับแนวทางการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายจากปัจจุบันที่เน้นทยอยการปรับแบบค่อยเป็นค่อยไปหรือไม่
*ธปท.ชี้แจงไขข้อสงสัยว่า ไม่ เพราะประมาณการเงินเฟ้อปี 2566 ที่ปรับเพิ่มขึ้นมาจากปัจจัยด้านอุปทาน คือ การปรับขึ้นค่าไฟฟ้าเป็นหลัก ส่วนแรงกดดันด้านอุปสงค์ยังจำกัด และเงินเฟ้อจะลดลงกลับสู่กรอบเป้าหมายภายในสิ้นปี 2566 ในภาพรวมทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและแนวโน้มเงินเฟ้อยังเป็นไปตามที่คาดไว้เดิม ดังนั้น การทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายยังเหมาะสมกับบริบทของไทยในตอนนี้
-เศรษฐกิจของประเทศหลักที่อาจชะลอตัวมากกว่าคาด จะกระทบกับแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยหรือไม่
*ธปท.ชี้แจงว่าไม่กระทบ เพราะแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปจะมาจาก
1.ภาคการท่องเที่ยว ระยะหลังนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่มาไทยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง คือ นักท่องเที่ยวในภูมิภาคเอเชีย และอาเซียน จึงคาดว่าไม่น่าจะได้รับผลกระทบจากแนวโน้มเศรษฐกิจประเทศหลักที่ชะลอลง
2.การบริโภคภาคเอกชน ได้รับแรงสนับสนุนจากการจ้างงานและรายได้แรงงานที่ปรับดีขึ้น
ทั้ง 2 ปัจจัยนี้จะช่วยชดเชยการส่งออกที่จะโตลดลงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศหลัก และทำให้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มโตต่อเนื่อง
ทั้งนี้ มีการประมาณการอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP)
-ปีนี้ 2565 ขยายตัว 3.2%
-ปีหน้า 2566 ขยายตัว 3.7%
-ปี 2567 ขยายตัว 3.9%
ผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ต่อภาคธุรกิจไทย (BSI COVID) เดือนพ.ย. 2565
-ในไตรมาสที่ 4 ธุรกิจกว่าครึ่งหนึ่งมีต้นทุนสูงขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า จากราคาวัตถุดิบและค่าสาธารณูปโภคที่เพิ่มขึ้น รวมถึงต้นทุนการนำเข้าวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้นตามการอ่อนค่าของเงินบาท นอกจากนี้ ธุรกิจบางส่วนยังได้รับผลลบเพิ่มเติมจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ โดยเฉพาะธุรกิจในภาคการผลิตที่ใช้แรงงานเข้มข้น เช่น การผลิตสิ่งทอเครื่องนุ่งห่ม การผลิตอาหาร
-ในภาพรวม ธุรกิจราว 3 ใน 4 ไม่มีความต้องการจ้างงานเพิ่มขึ้นในระยะ 3 เดือนข้างหน้า ยกเว้นธุรกิจท่องเที่ยวที่ส่วนใหญ่ต้องการแรงงานเพิ่มอีกไม่เกิน 10% ของแรงงานปัจจุบัน
มีข้อสังเกตว่า ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และการก่อสร้างมีความต้องการแรงงานเพิ่มมากกว่า 10% เป็นสัดส่วนมากกว่าธุรกิจอื่น สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนแรงงาน คือ ทักษะและประสบการณ์ของแรงงานไม่ตรงกับความต้องการของนายจ้าง และการปรับขึ้นค่าจ้างเพื่อดึงดูดแรงงานทำได้อย่างจำกัด ส่วนสาเหตุที่ธุรกิจในภาคที่ไม่ใช่การผลิต ขาดแคลนแรงงาน เกิดจากแรงงานเดิมหันไปประกอบอาชีพอื่น เช่น เปิดร้านอาหาร เป็นไรเดอร์ และ ค้าขายออนไลน์ เป็นต้น
#เงินเฟ้อ
#นโยบายดอกเบี้ย
รายละเอียดผลการประชุมกนง. https://bit.ly/3Vyjmwc
CR:ข้อมูล-ภาพ ธนาคารแห่งประเทศไทย-Bank of Thailand