ตร.ย้ำ 6 เรื่องต้องรู้ ก่อนดีเดย์ 9 ม.ค.66 ใช้ระบบตัดคะแนน สร้างวินัยจราจร

01 ธันวาคม 2565, 12:20น.


          เจ้าหน้าที่ตำรวจ พร้อมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แถลงระบบบันทึกคะแนนความประพฤติในการขับรถหรือระบบตัดแต้มและความร่วมมือระหว่างหน่วยงานเพื่อสร้างระบบดังกล่าวให้ดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นมาตรฐานสากล





          ระบบบันทึกคะแนนความประพฤติ กำหนดไว้ใน “ระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับระบบการบันทึกคะแนนความประพฤติในการขับรถของผู้ได้รับใบอนุญาตขับขี่ พ.ศ.2565” ซึ่งออกตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 142/1 โดยจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 9 มกราคม 2566  ซึ่งจะเป็นมาตรการเสริมในการสร้างวินัยการขับขี่เพิ่มเติมจากการออกใบสั่ง เพื่อบังคับใช้กฎหมายตามปกติ ภายใต้สโลแกน “มุ่งเน้นการสร้างวินัยการขับขี่ปลอดภัย  ให้โอกาสแก้ไขไม่กระทำผิดซ้ำ สร้างความเท่าเทียมกันภายใต้กฎหมาย และเป็นมาตรฐานสากล”



          6 เรื่องที่ต้องรู้ ก่อนที่จะมีการใช้ระบบตัดคะแนน เพื่อเสริมสร้างวินัยการจราจร



1.ขับรถต้องมีใบขับขี่ ผู้ขับขี่ทุกคนมี 12 คะแนน



2.ทำผิดกฎจราจรใน 20 ฐานความผิดที่อาจจะทำให้เกิดอุบัติเหตุ หรือไม่ชำระค่าปรับจราจร ถูกตัดคะแนนตั้งแต่ 1-4 คะแนน ขึ้นอยู่กับความผิด



3.หากถูกตัดคะแนนจนเหลือ 0 จะถูกพักใช้ใบขับขี่ 90 วัน



4.ฝ่าฝืนขับรถในช่วงถูกพักใบขับขี่ มีโทษจำคุก 3 เดือน และ/หรือ ปรับไม่เกิน 10,000 บาท



5. การคืนคะแนน ทำได้ด้วยการเข้าอบรมกับกรมการขนส่งทางบก หรือ รอให้ครบ 1 ปี จะได้คะแนนคืนอัตโนมัติ



6. หากถูกพักใบขับขี่เป็นครั้งที่ 3 ภายในรอบ 3 ปี อาจถูกพักใบขับขี่มากกว่า 90 วัน และหลังจากนั้น ภายใน 1 ปี หากถูกตัดคะแนนอีกจนถูกพักใบขับขี่เป็นครั้งที่ 4 อาจถูกเพิกถอนใบขับขี่ทุกประเภท   



          พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์  กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.) กล่าวถึง สาระสำคัญของระบบนี้ คือ กำหนดให้ผู้ที่มีใบอนุญาตขับขี่แต่ละราย จะมีคะแนนความประพฤติคนละ 12 คะแนน  (ไม่ว่าผู้นั้นจะได้รับใบอนุญาตขับขี่กี่ชนิดก็ตาม) หากทำผิดตามกฎจราจรในข้อหาที่ระบุไว้ จะถูกตัดคะแนนตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด ดังนี้



การตัดคะแนน



1) กลุ่มความผิดหลักที่เป็นปัจจัยในการเกิดอุบัติเหตุ (20 ฐานความผิด) จะถูกตัดคะแนนเมื่อทำผิดทันที  โดยความผิดในกลุ่มนี้แบ่งเป็น 4 ระดับ ได้แก่



 - ตัด 1 คะแนน  เช่น ขับรถเร็วเกินกำหนด ไม่สวมหมวกนิรภัย ไม่รัดเข็มขัดนิรภัย ไม่หยุดให้คนข้ามทางม้าลาย ใช้โทรศัพท์ขณะขับรถ  ไม่หลบรถฉุกเฉิน ขับรถโดยประมาทหวาดเสียว ขับรถไม่ติดป้ายทะเบียน หรือเปลี่ยนแปลง ปิดบัง ไม่ติดป้ายภาษี



 - ตัด 2 คะแนน  เช่น  ฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจร (ฝ่าไฟแดง)  ขับรถย้อนศร ขับรถในระหว่างโดนพักใช้หรือเพิกถอนใบขับขี่



 - ตัด 3 คะแนน  เช่น ขับรถชนแล้วหนี ขับรถในขณะหย่อนความสามารถ ขับผิดวิสัยคนขับรถธรรมดา



 - ตัด 4 คะแนน  เช่น เมาแล้วขับ ขับรถในขณะเสพยาเสพติด แข่งรถในทางโดยไม่ได้รับอนุญาต ขับรถไม่คำนึงความปลอดภัยของผู้อื่น



2) กลุ่มความผิดอื่นๆ ตามกฎหมายว่าด้วยจราจรทางบก และกฎหมายที่เกี่ยวกับรถหรือการใช้ทาง จำนวน 42 ฐานความผิด ตามบัญชีท้ายระเบียบ ความผิดกลุ่มนี้จะถูกตัดคะแนนเฉพาะกรณีไม่ชำระค่าปรับตามใบสั่งในเวลาที่กำหนดเท่านั้น  เช่น ฝ่าฝืนเครื่องหมายจราจรในทาง จอดในที่ห้ามจอด ไม่แสดงใบอนุญาตขับขี่ขณะขับรถ เป็นต้น





วิธีการตัดคะแนน 



จะดำเนินการโดยระบบอิเล็กทรอนิกส์  โดยใช้ระบบฐานข้อมูลใบสั่ง PTM ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติในการบันทึกการทำผิดกฎจราจรและตัดคะแนนในแต่ละครั้ง 



เรื่องการสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่



- หากผู้ขับขี่ถูกตัดคะแนนจนเหลือ 0 คะแนน จะถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ หรือห้ามขับรถ (ทุกประเภท) เป็นเวลา 90 วัน โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจจะเป็นผู้มีหนังสือแจ้งคำสั่งดังกล่าว และหากฝ่าฝืนไปขับรถในขณะถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 156 



- หากถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่เป็นครั้งที่ 3 ภายใน 3 ปี อาจจะถูกสั่งพักใช้มากกว่า 90 วัน  และหากยังถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่อีกเป็นครั้งที่ 4 อาจถูกพิจารณาเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่



การคืนคะแนน



-การคืนคะแนนโดยอัตโนมัติ



-การคืนคะแนนเมื่อผ่านการอบรมจากกรมการขนส่งทางบก ดังนี้  



1) การคืนคะแนนอัตโนมัติ  คะแนนที่ถูกตัดไปในแต่ะครั้ง จะได้รับคืนเมื่อครบกำหนด 1 ปี นับตั้งแต่วันกระทำผิดครั้งนั้นๆ  เว้นแต่เป็นกรณีที่ถูกตัดเหลือ 0 คะแนน  จะได้รับคืนเมื่อพ้นกำหนดเวลาการสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่  โดยได้รับคืนเพียง 8 คะแนน



 2) การคืนคะแนนโดยวิธีการเข้ารับการอบรมกับกรมการขนส่งทางบกอีกส่วนหนึ่ง  ซึ่งมี 2 กรณี



- กรณีที่คะแนนเหลือน้อยกว่า 6 คะแนน สามารถขอเข้ารับการอบรมจากกรมการขนส่งทางบกได้ แต่อบรมได้เพียงปีละ 2 ครั้ง



- กรณีที่ถูกตัดคะแนนจนเหลือ 0 คะแนน  และต้องการคะแนนกลับคืนมาทั้งหมด 12 คะแนน  สามารถขอเข้ารับการอบรมจากกรมการขนส่งทางบกได้



          เมื่อผ่านการอบรมตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของกรมการขนส่งทางบก  ก็จะได้รับคืนคะแนนตามที่กำหนด



-ความร่วมมือของกรมการขนส่งทางบก นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวว่า กรมการขนส่งทางบกมีส่วนร่วม ในระบบการคืนคะแนนใบอนุญาตขับขี่ทุกประเภท ได้บูรณาการร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการเชื่อมโยงข้อมูลเกี่ยวกับประวัติและการทำผิดตามกฎหมาย ข้อมูลทะเบียนรถ และข้อมูลอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อประโยชน์ในการควบคุมดูแล และการบังคับใช้กฎหมายให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ หลักสูตรในการอบรมประกอบด้วย วิชาความรู้พื้นฐาน เช่น สถานการณ์อุบัติเหตุในปัจจุบัน ปัจจัยที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุ วิชากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการใช้รถใช้ถนน และผลกระทบที่เกิดจากอุบัติเหตุ รวมถึงวิชาความรู้ตามข้อหาความผิดที่ผู้เข้ารับการอบรมได้กระทำ เมื่อผู้ได้รับใบอนุญาตขับขี่ผ่านการอบรมตามหลักสูตรที่กำหนดแล้ว ต้องเข้ารับการทดสอบและต้องได้คะแนนไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 จึงจะถือว่าผ่านการอบรมและทดสอบ ถ้าไม่ผ่านสามารถแก้ตัวใหม่เป็น ครั้งที่ 2 ในวันเดียวกัน หากยังไม่ผ่านการทดสอบอีกจะออกใบนัดมาทำการทดสอบแก้ตัวใหม่เป็นครั้งที่ 3 ภายใน 7 วันนับตั้งแต่วันที่เข้ารับการทดสอบครั้งแรกไม่ผ่าน เมื่อผู้ได้รับใบอนุญาตขับขี่ผ่านการอบรมและการทดสอบแล้ว กรมการขนส่งทางบกจะแจ้งผลการอบรมและการทดสอบ ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อคืนคะแนนต่อไป โดยผู้ประสงค์เข้ารับการอบรมและทดสอบเพื่อขอคืนคะแนน สามารถแจ้งความประสงค์พร้อมหลักฐานใบอนุญาตขับขี่หรือบัตรประจำตัวประชาชน ที่กรมการขนส่งทางบก สำนักสวัสดิภาพการขนส่งทางบก (อาคาร 8) หรือ สำนักงานขนส่งกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-4 หรือสำนักงานขนส่งจังหวัด ทุกจังหวัด





-ความร่วมมือในส่วนของธนาคารกรุงไทย นายพงษ์สิทธิ์ ชัยฉัตรพรสุข รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กล่าวว่า ได้พัฒนาระบบบริการรับชำระค่าปรับผ่านระบบออนไลน์ เพื่อเพิ่มช่องทางการรับชำระค่าปรับผ่านช่องทางออนไลน์ สามารถทำรายการได้ด้วยตนเอง ตลอด 24 ชั่วโมง  ผ่านแอปพลิเคชัน  “Krungthai NEXT” และ “เป๋าตัง” โดยไม่มีค่าธรรมเนียม และสามารถชำระค่าปรับใบสั่งผ่านทางเว็บไซต์ใบสั่งจราจรออนไลน์สำหรับประชาชน (e-Ticket) https://ptm.police.go.th/ ด้วยบัตรเดบิตและบัตรเครดิต ยกระดับการให้บริการรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ ประหยัดเวลาในการเดินทาง พร้อมบริการตรวจสอบแต้มจราจรผ่านระบบออนไลน์



-ความร่วมมือในส่วนของบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็นที พันเอก สรรพชัยย์  หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็นที เปิดเผยว่า เอ็นที ในฐานะรัฐวิสาหกิจผู้ให้บริการด้านเทคโนโลยีการสื่อสารและระบบสารสนเทศขนาดใหญ่ ดูแลเรื่องการใช้ระบบบันทึกคะแนนความประพฤติในการขับรถ พร้อมทั้งเปิดตัวโมบายล์แอปพลิเคชันชื่อว่า ขับดี (KHUB DEE)



ช่องทางการตรวจสอบคะแนน



1) เว็บไซต์ E-Ticket PTM  ซึ่งพัฒนาโดยธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สามารถตรวจสอบใบสั่งค้างชำระ จ่ายค่าปรับ  ตรวจสอบคะแนนความประพฤติ  และตรวจสอบสถานะใบขับขี่ 



2) แอปพลิเคชัน ขับดี (KHUB DEE) ซึ่งพัฒนาโดย NT เพื่อให้บริการข้อมูลข่าวสาร และตรวจสอบใบสั่งค้างชำระ และคะแนนความประพฤติ และดำเนินการด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการขับขี่อันเป็นประโยชน์ต่าง ๆ ที่ทันสมัย



3) แอปพลิชัน เป๋าตัง ให้บริการชำระค่าปรับผ่านระบบออนไลน์ 



 



#บันทึกคะแนนความประพฤติการขับรถ



CR:กองสารนิเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ 

ข่าวทั้งหมด

X