มติ 7:2 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง สส.ไม่ขัดรธน. สส.หาร100

30 พฤศจิกายน 2565, 14:48น.


          หลังประธานรัฐสภาส่งความเห็นของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 148 วรรคหนึ่ง (1) ประกอบมาตรา 132 ว่า ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ...) พ.ศ. .... มาตรา 25 และมาตรา 26 มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 93 และมาตรา 94 หรือไม่ และตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือไม่ (เรื่องพิจารณาที่ 20/2565) โดยมีส.ส. และ ส.ว. รวม 105 คน เข้าชื่อเสนอความเห็นต่อประธานรัฐสภา (ผู้ร้อง) เพื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยนั้น



          ผลการพิจารณาระบุว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ วินิจฉัยว่า ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตราขึ้นโดยถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 132 และร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... มาตรา 25 ไม่มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 93 และมาตรา 94 และมีมติโดยเสียงข้างมาก 7 ต่อ 2 วินิจฉัยว่า ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... มาตรา 26 ไม่มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 93 และมาตรา 94



          คดีดังกล่าวเริ่มต้นที่ นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ ได้ยื่นร้องเรียนให้ศาลรัฐธรรมนูญ​พิจารณาว่าร่างพระราชบัญญัติ​ประกอบรัฐธรรมนูญ​ว่าด้วย​การเลือกตั้ง ส.ส. ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ใน 2 ประเด็น



-ประเด็นแรก​ เป็นเรื่องเกี่ยวกับเนื้อหาในร่าง ให้วินิจฉัยว่า มาตรา 25 และมาตรา 26 ของร่างพระราชบัญญัติ​ประกอบรัฐธรรมนูญ​ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.ขัดกับบทบัญญัติของศาลรัฐธรรมนูญมาตราที่ 93 และ 94 หรือไม่



-ประเด็นที่สอง คือกระบวนการตราร่างกฎหมาย ถูกต้องตามที่รัฐธรรมนูญ กำหนดหรือไม่ เพราะสภาพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวไม่ทันตามกรอบเวลา 180 วัน หลัง ส.ส. ฝ่ายรัฐบาล พลิกแนวทางการสนับสนุนสูตรคำนวณ ส.ส. จากสูตรหาร 100 ไปเป็นสูตรหาร 500 สุดท้ายมาจบลงที่สูตรหาร 100 เนื่องจากพิจารณาไม่ทัน จึงต้องกลับไปใช้ร่างที่คณะรัฐมนตรี​เสนอ นั่นจึงทำให้ น.พ.ระวี​ ยื่นร้องว่าสูตรคำนวณ​ส.ส.หาร​ 100 ขัดต่อรัฐธรรมนูญ​หรือไม่



          นพ.ระวี กล่าวว่า กระบวนการต่อไป นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ก็จะนำส่งร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ไปยังรัฐบาล โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรี จะมีเวลาอีก 5 วัน เพื่อรอว่าจะมีใครไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญคัดค้านอีกหรือไม่ หากไม่มีใครคัดค้านก็จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงปรมาภิไธย แต่ส่วนตัวจบแล้ว จะไม่มีการยื่นคัดค้านใดๆ อีก และคงเอาเวลาไปเตรียมตัวเลือกตั้งครั้งหน้า คาดว่า การโปรดเกล้าฯ ลงมา น่าจะอยู่ในช่วงเดือน ธ.ค.-ม.ค.66 โดยเชื่อว่า ระหว่างนี้จะไม่มีการยุบสภา เพราะจะไม่มีกฎหมายรับรองการเลือกตั้ง แต่เมื่อมีการทูลเกล้าฯ ลงมาแล้ว ก็อาจจะมีการยุบสภาในช่วงเดือน ก.พ.66



          สำหรับความแตกต่างของสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อแบบหาร 100 และ 500 นั้น 

นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่...) พ.ศ... รัฐสภา เคยให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนโดยได้อธิบายเกี่ยวกับสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หรือ ปาร์ตี้ลิสต์ แบบหาร 100 เอาไว้ดังนี้ 



สูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อแบบหาร 100  คือ จำนวนส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ไปหารด้วยคะแนนรวมในบัตเลือกตั้งส.ส.บัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมืองทั่วประเทศ จนได้ตัวเลขเป็นฐานคะแนนต่อส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 1 คน แล้วนำคะแนนของแต่ละพรรคการเมืองมาดูว่า ได้คะแนนเท่าใด แล้วจึงคิดออกมาเป็นสัดส่วนของ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ที่แต่ละพรรคจะคว้าได้ในสภาฯ จนครบ 100 คน



ตัวอย่างการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อแบบหาร 100 



หากบัตรคะแนนเสียงเลือกตั้ง ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ทั่วประเทศ รวมกันแล้วมีทั้งสิ้น 37,000,000 คะแนน ก็นำ 37,000,000 ไปหารด้วย 100 ก็จะเท่ากับได้ 370,000 คะแนนต่อส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 1 คน หากย่อยลงมาให้เห็นชัด ๆ คือ พรรค ก. ได้คะแนนปาร์ตี้ลิสต์ 1,000,000 คะแนน เมื่อนำ 370,000 คะแนน ไปหาร พรรค ก. ก็จะได้ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 2.7 คน หรือ 2 คน  



          สูตรคำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อแบบหาร 500  สำหรับสูตรนี้ นายแพทย์ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ (พธม.) ในฐานะ กมธ.ซึ่งใช้สิทธิเสนอแปรญัตติในชั้น กมธ. เป็นหนึ่งในกมธ.เสียงข้างน้อยที่ไม่เห็นด้วยกับสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อแบบหาร 100 ได้อธิบายสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อแบบหาร 500 นี้ไว้ 2 แบบด้วยกัน



แบบที่ 1



การคำนวณหาคะแนนเฉลี่ยต่อ ส.ส.พึงมี 1 คน ก็คือ การนำผลรวมคะแนนพรรคของทุกพรรคทั่วประเทศไปหารด้วย 500 เช่น 37 ล้าน หารด้วย 500 ก็จะเท่ากับ 74,000 โดยการคำนวณหาจำนวน ส.ส.พึงมีของพรรค ก คือ ผลรวมคะแนนพรรคของพรรค ก จากทุกเขต คะแนนเฉลี่ยต่อ ส.ส. พึงมี 1 คน 1,000,000÷74,000 = 13.5 ส.ส.ส่วนจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรค ก ก็คือ จำนวน ส.ส.พึงมีพรรค ก – จำนวน ส.ส.เขตพรรค ก  ตัวอย่าง ส.ส.พึงมี (13.5)–ส.ส.เขต(7) = ส.ส.บัญชีรายชื่อ คือ 6.5



แบบที่ 2 การคำนวณหาคะแนนเฉลี่ยต่อ ส.ส. พึงมี 1 คน ก็คือ ผลรวมคะแนนเขต + คะแนนพรรคของทุกพรรค หาร 500  เช่น  37 ล้าน + 37 ล้าน = 74 ล้าน = 148,000 จากนั้น นำคะแนนเขตทั้งหมดพรรค ก + คะแนนพรรคทั้งหมดพรรค ก คะแนนเฉลี่ย ต่อ ส.ส.พึงมี 1 คน ตัวอย่าง = 1,000,000+800,000 หารด้วย 148,000 = 1,800,000 ÷148,000 = 12.16 คน ส่วนวิธีหาจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรค ก ก็ให้นำจำนวน ส.ส.พึงมีพรรค ก – จำนวน ส.ส. เขต พรรค ก. ตัวอย่าง = ส.ส.พึงมี (12.16 คน) – ส.ส.เขต (7) = ส.ส.บัญชี 5 คน



 



 



#เลือกตั้งสส



#ศาลรัฐธรรมนูญ

ข่าวทั้งหมด

X