*แจงม.44 สกัด5เหตุการณ์ป่วนเมือง/เปิดโปงชื่อขรก.ทุจริต/ไม้สักอ่อนกำลัง

03 เมษายน 2558, 07:44น.


ความเคลื่อนไหวเมืองไทยวันนี้ 07.30 น.



+++สำนักงานอุตุนิยมวิทยาแห่งชาติของฟิลิปปินส์ออกแถลงการณ์ผ่านสถานีโทรทัศน์แห่งชาติ เตือนภัยประชาชนซึ่งอาศัยอยู่ตลอดแนวชายฝั่งทางตะวันออกของประเทศ รวมถึงกรุงมะนิลา ให้ระวังอันตรายจากคลื่นพายุซัดฝั่งที่อาจสูง 3-4 เมตร ดินและโคลนถล่ม น้ำป่าไหลหลากและน้ำท่วมฉับพลัน ซึ่งเป็นอิทธิพลของพายุไต้ฝุ่น "ไม้สัก" ที่คาดว่าจะเดินทางถึงฟิลิปปินส์ภายในสุดสัปดาห์นี้  พายุไม้สัก ซึ่งมีความเร็วของลมศูนย์กลาง 210 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เทียบเท่าพายุเฮอริเคนระดับ 4 จาก 5 ตามมาตรวัดซัฟเฟอร์-ซิมป์สัน เคลื่อนที่ด้วยความเร็ว 19 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ก่อตัวอยู่ห่างจากเมืองกาตาร์มัน ในจังหวัดซามาร์เหนือ ทางตะวันออกเฉียงเหนือของกรุงมะนิลา บนเกาะลูซอนออกไปทางตะวันออกอีกราว 995 กิโลเมตร ขณะที่เมื่อเวลา 23:30 ไต้ฝุ่นไม้สักอ่อนกำลังลงเหลือระดับ 3 เส้นทางพายุหลังผ่านฟิลิปปินส์จะมาสลายตัวใกล้เกาะไหหลำ



+++การประกาศใช้คำสั่งคสช. ตามมาตรา 44  พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี  ปฏิเสธที่จะตอบคำถาม พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวกรณีที่ยูเอ็นมีท่าทีกังวลกับการใช้มาตรา 44 ว่า อย่ากังวลไปเพราะคนในประเทศยังไม่กังวล ไม่มีอะไรที่แรงไปกว่าการรัฐประหารแล้ว  "อย่าตีตนไปก่อนไข้ หากถามว่ามั่นใจว่าจะใช้อำนาจอย่างสร้างสรรค์จริงหรือไม่ ให้ย้อนกลับไปดูที่ผ่านมาตั้งแต่วันที่ประกาศรัฐธรรมนูญชั่วคราวมีอะไรที่บ่งบอกว่าเป็นไปตามที่กังวลหรือไม่"



+++ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ แถลงว่า การใช้มาตรา 44 เพื่อแก้สถานการณ์บางอย่างเพราะมีอุปสรรคเท่านั้น ไม่ได้ใช้เพื่อใครคนใดคนหนึ่ง ซึ่งก่อนหน้านี้เคยมีการรายงานให้รัฐบาลทราบว่า มีสถานการณ์สำคัญที่ไม่น่าไว้วางใจอยู่หลายเหตุการณ์ อาจมีผู้สูญเสียอำนาจทางการเมืองในอดีตบางคนก่อความไม่สงบเรียบร้อยขึ้น ซึ่งมีรายงานข่าวว่ายังมีอยู่ มีกลุ่มทุน กลุ่มเศรษฐกิจ กลุ่มที่มีอิทธิพลที่ได้รับผลกระทบจากการจัดระเบียบสังคมแล้วก่อความไม่สงบเรียบร้อยขึ้น เพื่อปกป้องผลประโยชน์ทางธุรกิจของตน ซึ่งเรื่องนี้ไม่เกี่ยวเรื่องการเมืองกลุ่มที่รู้ว่าเหตุการณ์จะเข้าสู่โรดแม็ประยะที่ 3 ที่จะเกิดการเลือกตั้ง การประกาศใช้รัฐธรรมนูญ จึงอาจก่อความไม่สงบเรียบร้อยบางอย่างขึ้นในบางพื้นที่ ซึ่งกลุ่มนี้ต่างจากกลุ่มแรกที่เสียอำนาจในอดีตที่อาจมีไม่มากนัก เพราะกลุ่ม 3 เป็นกลุ่มที่ฉวยโอกาสความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในอนาคต จึงอาจสร้างสถานการณ์อะไรบางอย่างกลุ่มสร้างสถานการณ์ให้เกิดความไม่เรียบร้อยขึ้น ซึ่งกลุ่มนี้อาจไม่มีเจตนาทางการเมือง แต่เจตนาเป็นเรื่องอื่นและ กลุ่มนี้มีจำนวนไม่มาก แต่มีประปราย คือกลุ่มที่รู้สึกว่าได้รับความกระทบกระเทือน เดือดร้อน ได้รับความไม่เป็นธรรม เป็นพวกสุจริตไม่มีเจตนาทางการเมืองแอบแฝง อาจมีวิธีระบายโดยการก่อความไม่สงบ เช่น วางระเบิด จึงเป็นการยืนยันว่าอาจมีเหตุการณ์ที่อาจเกิดความไม่เรียบร้อยขึ้นได้



+++ ดังนั้นคสช.มีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยในประเทศ ไม่ให้เกิดเหตุไม่สงบ ไม่ให้เกิดเหตุการณ์เหมือนก่อนวันที่ 22 พ.ค.57 รายละเอียด 14 ข้อ ซึ่งกฎอัยการศึกกับมาตรา 44 แตกต่างกันอย่างน้อย 4 ประการคือ 1.สถานการณ์ที่ประเทศไม่ได้อยู่ในกฎอัยการศึก ยกเว้นพื้นที่ชายแดนบางพื้นที่ ส่งผลดีในบางเรื่องที่เคยเป็นปัญหาเช่น เรื่องการประกันภัยผู้โดยสารที่บางบริษัทไม่รับทำประกันหากมาในพื้นที่ที่ประกาศกฎอัยการศึก



+++2.ศาลทหาร เพราะกฎอัยการศึก คดี 4 ประเภทต้องขึ้นศาลทหาร แต่เมื่อยกเลิกแล้ว ก็ให้คดีที่อยู่ในศาลทหาร พิจารณาคดีต่อเนื่องใน 3 ศาลทหารได้ คือศาลทหารชั้นต้นแล้วอุทธรณ์ไปศาลทหารกลาง ฎีกาไปศาลทหารสูงสุดได้ ฉะนั้น คดีที่ขึ้นศาลทหารยังคงขึ้นศาลทหารต่อไป เพียงแต่สู้คดีได้ทั้ง 3 ศาลทหาร



+++3.อำนาจเจ้าหน้าที่ ตามกฎอัยการศึก เจ้าหน้าที่มีอำนาจมาก แต่เมื่อยกเลิกแล้ว อำนาจจะลดลงเหลือเพียงที่ระบุในคำสั่งเท่านั้น ซึ่งล้อมาจากพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ส่วนอำนาจตรวจข่าว ห้ามเผยแพร่ ห้ามจำหน่ายสื่อ ก็เป็นอำนาจที่อยู่ในพ.ร.ก.ฉุกเฉิน 4.เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติ ตามกฎอัยการศึกนั้นทหารมีอำนาจปฏิบัติ แต่ตามคำสั่งหัวหน้าคสช.เรียกว่าเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย ต้องเป็นนายทหารชั้นยศและตามที่หัวหน้าคสช.มีคำสั่งแต่งตั้งเท่านั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่อาจเป็นเจ้าพนักงานตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ได้ แต่เจ้าพนักงานทหารสามารถขอความร่วมมือเข้าร่วมปฏิบัติการได้ตามกฎหมายของตำรวจอยู่แล้ว



+++คดีที่อยู่ในศาลตั้งแต่ยึดอำนาจจนถึงขณะนี้ ในต่างจังหวัดมี 500 คดี กทม.มี 80 คดี ในจำนวนนี้ตัดสินไป 300-400 คดี เหลือที่ค้างและยังไม่จบหรือจับตัวไม่ได้ 100 คดี ซึ่งคดีที่อยู่ในศาลทหารก็อุทธรณ์หรือฎีกาได้ ส่วนที่คดีจบไปแล้ว ก็ไม่มีช่องทางร้องเรียนเยียวยา หากคิดว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมคงต้องขอทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายฎีกา



+++สำหรับในวันนี้ นายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุมการป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ และมอบนโยบายในการปฏิบัติราชการ โดยมีส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม ณ ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งต้องติดตามว่าจะมีมาตรการเพิ่มเติมในการแก้ปัญหานี้อย่างไร



+++คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ นำโดย ศ.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ. ลงพื้นที่ร่วมเวทีสัมมนา "เผยแพร่ความรู้ความเข้าใจและรับฟังความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญ" ณ โรงแรมอินน์ เชียงใหม่ อ.เมือง จ.เชียงใหม่



+++รมว.ยุติธรรม จะประชุมศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) เพื่อเร่งรัดมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตประพฤติมิชอบ โดยจะมีการเสนอรายชื่อข้าราชการทุกระดับที่มีชื่อพัวพันกับคดีทุจริตให้หัวหน้า คสช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเอาผิด



+++12.00 น. ดีเอสไอแถลงข่าวความคืบหน้าคดีสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน โดยนายสุรศักดิ์ ตรีรัตน์ตระกูล อธิบดีอัยการ สำนักงานการสอบสวน ซึ่งเป็นประธานการประชุมติดตามผลคดี ที่ศูนย์ ราชการฯ อาคารบี  ก่อนหน้านี้ นายศุภชัย  ศรีศุภอักษร อดีตประธานสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด เข้าพบพนักงานสอบสวน เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาเพิ่มเติม ในคดียักยอกทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา เบื้องต้นนายศุภชัยให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา ไม่ขอให้การในชั้นพนักงานสอบสวน ซึ่งพนักงานสอบสวนได้นำตัวขออำนาจศาลฝากขังพร้อมคัดค้านการประกันตัวโดยศาลมีคำสั่งไม่ปล่อยตัวชั่วคราว ส่วนในวันนี้ เวลา 15.00 น. จะประชุมคณะกลั่นกรองคดีพิเศษเพื่อเสนอให้รับกรณีซื้อขายที่ดินบริเวณคลองหลวง จ.ปทุมธานีของนายศุภชัย ให้กับน.ส.อลิสา อัศวโภคิน ทายาทแลนด์แอนด์เฮ้าส์ รวมถึงกรณีการโอนทรัพย์สินไปให้กับนายสถาพร  วัฒนาศิรินุกุล ประธานกรรมการบริษัท เอส ดับบลิว โฮลดิ้ง กรุ๊ป ประเทศไทยจำกัด เป็นคดีความผิดฐานฟอกเงินแยกจากคดีพิเศษอีกคดีหนึ่ง อย่างไรก็ตาม หากคณะทำงานที่มีอัยการเข้าร่วมเห็นว่าคดีดังกล่าวเป็นคดีที่มีความเกี่ยวเนื่องเกี่ยวพันก็พิจารณาคดีพิเศษได้  ขณะนี้ชุดติดตามร่องรอยทางการเงิน อยู่ระหว่างการลงพื้นที่ตรวจสอบและเก็บข้อมูลในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศหลังได้รับ แจ้งข้อมูลจากประชาชน กรณีถูกนายศุภชัยหลอกลวงซื้อที่ดิน  จากนั้นแนะนำให้นำเงินที่ได้จากการขายที่ดินมาฝากไว้กับสหกรณ์คลองจั่นฯ  ทำให้ต้องสูญเสียทั้งที่ดินและเงินค่าขายที่ดิน นอกจากนี้ยังต้องตรวจสอบกรณีที่นายศุภชัยนำที่ดินไปขายด้วยว่ามีเงินกลับเข้ามาให้กับสหกรณ์จริงหรือไม่



ส่วนของการหารือร่วมกันระหว่างผู้บริหารสหกรณ์คลองจั่นฯ กับสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เกี่ยวกับการบริหารทรัพย์ ที่ได้จากยึดและอายัด เดิมมีกำหนดหารือ ร่วมกันในวันที่ 3 เม.ย.ได้เลื่อนไปเป็นวันที่ 10 เม.ย.

ข่าวทั้งหมด

X