ศูนย์จีโนม เผยข้อมูลของสหรัฐฯ โอไมครอนสายพันธุ์ย่อยที่ระบาดทั่วโลก ไม่รุนแรงซ้ำรอยเหมือนปีที่แล้ว

25 พฤศจิกายน 2565, 07:17น.


          ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊ก Center for Medical Genomics รายงานสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ว่าเมื่อต้นปี 2565 มีการระบาดของโอไมครอนสายพันธุ์ดั้งเดิม (BA.1, BA.2) ทำให้ผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก (รองมาจากการจำนวนผู้เสียชีวิตจากการระบาดของสายพันธุ์เดลตา) จากนั้นจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตก็ลดลงเข้าสู่ยุคโอไมครอน BA.4, และ BA.5 แต่ตั้งแต่ตุลาคม 2565 เป็นต้นมา เริ่มเห็นปรากฏการณ์ใหม่ของการระบาดของ “โอไมครอนสายพันธุ์ย่อยหลากหลายสายพันธุ์ (Omicron variant 'soup' or 'swarm)” ระบาดขึ้นมาพร้อมกัน โดยโปรตีนหนามบางส่วนคล้ายหรือเหมือนกัน เช่นสายพันธุ์ย่อย BA.2.75, XBB, XBB.1, BQ.1, BQ.1.1 ทำให้เกิดความกังวลไปทั่วโลกว่าเมื่อเข้าสู่ฤดูหนาวปลายปีนี้ไปจนถึงต้นปีหน้า 2566 อาจเกิดการระบาดใหญ่มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากซ้ำรอยอดีตอีกหรือไม่ 



          ดร.แอนโธนี เฟาซี (Anthony Fauci) ผู้อำนวยการสถาบันโรคภูมิแพ้และโรคติดเชื้อแห่งชาติ (NIAID) และหัวหน้าที่ปรึกษาทางการแพทย์ของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐฯ กล่าวในการบรรยายสรุปของทำเนียบขาว เมื่อวันอังคาร (22 พ.ย.65)  คาดว่า จะไม่พบการระบาดรุนแรงของโควิด-19 ซ้ำรอยเหมือนปีที่แล้ว เนื่องจาก ข้อมูลการระบาดโอไมครอนในประเทศสิงคโปร์ (XBB) อินเดีย (XBB) และอังกฤษ (BQ.1) แม้จะมีการระบาดของสายพันธุ์ย่อยเหล่านี้ในประเทศแต่ยังไม่ปรากฏจำนวนผู้เจ็บป่วยอาการหนัก ต้องเข้ารักษาตัวใน รพ. และเสียชีวิตอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับการระบาดของโอไมครอนเมื่อต้นปี 2565  เหตุผลสำคัญ คือ มีการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น มีการใช้ยาต้านไวรัส มีการใช้ยาฉีดเสริมภูมิคุ้มกันให้กลุ่มเปราะบางอย่างครบวงจร 



          โอไมครอนสายพันธุ์ย่อยในประเทศไทย “BA.2.75” ที่อาจมาแทนที่สายพันธุ์หลัก คือ BA.5 ที่ลดจำนวนลงอย่างต่อเนื่อง จากผลทดสอบทางห้องปฏิบัติพบว่าทั้งวัคซีนเชื้อตาย และวัคซีน mRNA ยังใช้ได้ผลดี โดยเฉพาะในกลุ่มที่ติดเชื้อตามธรรมชาติหลังการฉีดวัคซีน





          นอกจากนี้ ประเทศไทย มีการจัดเตรียมแอนติบอดีสำเร็จรูป แบบ Long Acting Antibodies (LAAB) ที่มีชื่อว่า "อีวูชีลด์" (Evusheld) เพื่อป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ในกลุ่มประชาชนเปราะบาง โดยเฉพาะผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อไวรัสโคโรนา 2019 ได้ไม่ดี เช่น ผู้มีภูมิคุ้มกันบกพร่องจากการติดเชื้อไวรัส ผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง ปลูกถ่ายอวัยวะ ปลูกถ่ายไขกระดูก หรือผู้ที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงเกิดอาการรุนแรงและเสียชีวิตจากโควิด-19 ได้โดยยา"อีวูชีลด์"สามารถใช้ป้องกันการติดเชื้อสายพันธุ์ BA.5*, BA.2.75* และสายพันธุ์ลูกผสม XBC (ยังไม่พบในประเทศไทย) ได้ดี ส่วนโอไมครอนสายพันธุ์ย่อย BQ.1,BQ.1.1, XBB, และ XBB.1 จากการทดสอบในห้องปฏิบัติการพบว่าดื้อต่อแอนติบอดีสำเร็จรูป "อีวูชีลด์" อาจต้องเปลี่ยนไปใช้แอนติบอดีค็อกเทลที่มีศักยภาพสามารถยับยั้งไวรัสโคโรนา 2019 หรือ SARS-CoV-2 ได้ทุกสายพันธุ์ (Broadly Neutralizing Monoclonal Antibodies) เช่น แอนติบอดีค็อกเทล SA55 และ SA58 ซึ่งผลจากห้องปฏิบัติการ พบว่า สามารถยับยั้ง ไวรัสโคโรนา 2019 ได้ทุกสายพันธุ์ทั้งในอดีตและปัจจุบัน





 



#โอไมครอนสายพันธุ์ย่อย



CR:Center for Medical Genomics

ข่าวทั้งหมด

X