มติเอกฉันท์ ศาลรธน.วินิจฉัย ร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ไม่ขัดรธน.

23 พฤศจิกายน 2565, 12:36น.


          สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เผยแพร่เอกสารข่าวผลการประชุมกรณีที่ประธานรัฐสภา ส่งความเห็นของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) จำนวน 77 คน ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 148 วรรคหนึ่ง (1) ประกอบมาตรา 132 ว่า ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่.. ) พ.ศ. …. มาตรา 3 มาตรา 4 มาตรา 5 มาตรา 6 มาตรา 7 มาตรา 9 และมาตรา 10 มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 45 มาตรา 83 มาตรา 86 มาตรา 90 มาตรา 91 และมาตรา 258 ก.ด้านการเมือง (2) หรือไม่ หรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือไม่



          โดยศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเป็นเอกฉันท์วินิจฉัยว่าร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่.. ) พ.ศ. …. มาตรา 3 มาตรา 4 มาตรา 5 มาตรา 6 มาตรา 7 มาตรา 9 และมาตรา 10 ไม่มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 45 มาตรา 83 มาตรา 86 มาตรา 90 มาตรา 91 และมาตรา 258 ก.ด้านการเมือง (2)





          ก่อนหน้านี้ พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม 1 ใน 77 ส.ว. ที่ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ระบุว่า ประเด็นสำคัญที่ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ได้แก่



1.กรณีที่ร่างพ.ร.ป.พรรคการเมืองแก้ไขเกี่ยวกับอัตราค่าธรรมเนียม และค่าบำรุงพรรคการเมืองที่เรียกเก็บจากสมาชิก โดยลดค่าบำรุงพรรครายปีจาก 200 บาท เป็น 20 บาท และแบบตลอดชีพ จาก 2,000 บาท เป็น 200 บาท ซึ่งมองว่า ขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ซึ่งออกแบบให้พรรคการเมืองเป็นสถาบันการเมือง และกำหนดให้เก็บค่าบำรุงพรรคนั้นเป็นความสัมพันธ์กับการมีส่วนร่วมต่อพรรคการเมือง รวมถึงข้อกำหนดเกี่ยวกับการสาขาพรรคและตัวแทนพรรคการเมือง ดังนั้นการลดอัตราค่าสมาชิกพรรคดังกล่าวอาจเปิดช่องให้เกิดโอกาสที่มีผู้ออกเงินแทนและทำให้เกิดการครอบงำได้



2. ประเด็นการลดคุณสมบัติของผู้ที่จะเป็นสมาชิกพรรคการเมือง ที่เดิมกำหนดความเข้มข้นห้ามบุคคลที่ต้องคำพิพากษาให้จำคุกเข้าสมัครเป็นสมาชิกพรรค แต่ร่าง พ.ร.ป.พรรคการเมืองได้แก้ไขให้บุคคลที่มีมลทินสามารถสมัครเป็นสมาชิกพรรคได้ ถือว่า ขัดเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญที่ป้องกันผู้ที่มีมลทินเข้าสู่การเมือง



3. การแก้ไขการเลือกตั้งขั้นต้นเพื่อหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. (ระบบไพรมารี่) เดิมที่กำหนดให้สมาชิกพรรคมีส่วนร่วมในการเลือกตัวแทนไปเป็นผู้สมัคร ส.ส. แบบเขตเลือกตั้ง แต่ถูกแก้ไขให้กรรมการสรรหาของพรรคเป็นผู้เลือกตัวแทนไปดำเนินการ



          ขณะที่กระบวนการไพรมารี่ของผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ เดิมกำหนดให้การเรียงลำดับจะมาจากคะแนนผู้ที่ได้รับเลือกจากสมาชิกพรรคด้วยคะแนนสูงสุดลดหลั่นไป แต่ถูกแก้ไขให้กรรมการสรรหาจัดลำดับได้เองจึงมองได้ว่าขัดรัฐธรรมนูญ



 



 



#ศาลรัฐธรรมนูญ



#กฎหมายพรรคการเมือง

ข่าวทั้งหมด

X