เปิดเวทีฟังความเห็นครั้งแรก กทพ.มั่นใจโครงการ Double Deck งามวงศ์วาน-พระราม 9 ช่วยแก้ปัญหาจราจร

23 พฤศจิกายน 2565, 12:33น.


          การเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งแรกโครงการทางพิเศษยกระดับชั้นที่ 2 (Double Deck) ช่วงงามวงศ์วาน-พระราม9



          นายสุรเชษฐ์  เหล่าพูลสุข  ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.)ให้ความมั่นใจเรื่องการรับฟังความคิดเห็นของชุมชนที่อยู่ตามสายทางทางด่วนอย่างเต็มที่ เพื่อให้การศึกษาครบถ้วนทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม เชื่อมั่นว่า โครงการนี้จะช่วยแก้ปัญหาการจราจรบนโครงข่ายทางพิเศษ เพิ่มประสิทธิภาพ สามารถแก้ปัญหาสำคัญ 5 ด้าน หรือ SWOTB ได้ 



-S ปัญหาด้านความจุของทางพิเศษไม่เพียงพอ



-Wปัญหาจุดตัดกระแสจราจรบริเวณทางร่วมและทางแยก



-O ปัญหาการจราจรติดขัดบริเวณทางลงทางพิเศษ



-Tปัญหาการไหลเวียนการจราจรบริเวณด่านเก็บค่าผ่านทาง



-Bปัญหาจุดคอขวดทางกายภาพบนทางพิเศษ  



          นายสุรเชษฐ์  เปิดเผยว่า ปัจจุบัน กทพ. อยู่ระหว่างศึกษาแนวทางการดำเนินการที่เหมาะสมและเป็นไปได้ของโครงการก่อสร้างทางด่วนชั้นที่ 2 เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรบนทางพิเศษศรีรัช ช่วงงามวงศ์วาน-พญาไท-พระราม 9 ซึ่งประสบปัญหาการจราจรอย่างหนักเข้าขั้นวิกฤตทั้งในและนอกช่วงเวลาเร่งด่วน เนื่องจาก ต้องรับภาระด้านการจราจรทั้งหมดจากความต้องการเดินทางในแนวตะวันออก-ตะวันตก และแนวเหนือ-ใต้บนโครงข่ายทางพิเศษในพื้นที่กรุงเทพมหานครชั้นในและชั้นกลาง



           พื้นที่ศึกษาของโครงการครอบคลุมพื้นที่บางส่วนใน 2 จังหวัด ได้แก่



-จังหวัดนนทบุรี จำนวน 1 อำเภอ คือ อำเภอเมืองนนทบุรี



-กรุงเทพมหานคร จำนวน 7 เขต ได้แก่ เขตบางซื่อ เขตจตุจักร เขตพญาไท เขตดุสิต เขตราชเทวี เขตดินแดง และเขตห้วยขวาง



          โดยมีระยะเวลาการศึกษาโครงการประมาณ 450 วัน โดยเริ่มการศึกษาตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2565 และจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเป็นระยะ ๆ อย่างต่อเนื่อง ตลอดระยะเวลาที่ดำเนินการศึกษา เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลข่าวสารของโครงการอย่างถูกต้อง ครบถ้วน และได้มีส่วนร่วมในการให้ข้อมูลข้อคิดเห็นข้อเสนอแนะ ซึ่งโครงการจะได้นำไปพิจารณาประกอบการศึกษาและพัฒนาโครงการให้มีความเหมาะสมและครบถ้วนสมบูรณ์ต่อไป



                   ด้าน ดร.วิรัช หิรัญ ผู้จัดการโครงการ ชี้แจงว่า โครงการที่เปิดรับฟังความคิดเห็นนี้ เป็นการทำงานระยะที่ 1 ในโครงการทางพิเศษศรีรัช ช่วงงามวงศ์วาน-พญาไท-พระราม9 การเปิดรับฟังความคิดเห็นโครงการทางพิเศษยกระดับชั้นที่ 2 ช่วงงามวงศ์วาน-พระราม 9 เป็นการก่อสร้างทางยกระดับซ้อนบนทางพิเศษศรีรัช มีขนาด 4 ช่องจราจร จุดเริ่มต้นโครงการที่บริเวณทางแยกต่างระดับงามวงศ์วาน และมีจุดสิ้นสุดโครงการที่บริเวณหลังด่านเก็บค่าผ่านทางอโศก 4 ระยะทาง 17 กิโลเมตร เชื่อมั่นว่า เมื่อโครงการแล้วเสร็จในปี 2573 ช่วยแก้ปัญหาการจราจรได้ และลดระยะเวลาการเดินทางโดยเฉพาะช่วงชั่วโมงเร่งด่วน



         สอดคล้องกับนายประเทือง อินคุ้ม วิศวกรโครงการ อธิบายเพิ่มเติมว่า แนวทางการก่อสร้างโครงการ Double Deck เป็นการแก้ปัญหาทางด่วนเดิมที่ปริมาณการจราจรคับคั่ง หรือการใช้ระยะเวลาเข้าเมืองนานประมาณ 1 ชั่วโมง-1 ชั่วโมง 30 นาที และเสียงประชาชนบ่นว่าทางด่วนที่ไม่ด่วน กทพ.จึงได้พัฒนารูปแบบขยายผิวทางในทางดิ่ง เนื่องจาก ไม่สามารถขยายผิวทางในทางราบได้ จะสามารถแบ่งเบาทางด่วนด้านล่าง กระแสการจราจรไหลได้ดีขึ้น คนที่อยู่ด้านล่างก็จะคล่องตัวมากขึ้น เป็นการลดผลกระทบให้กับประชาชน เพื่อลดการเวนคืน จากข้อมูลในเบื้องต้น คาดว่าจะยังไม่มีการเวนคืน เนื่องจาก เป็นการรับฟังความคิดเห็น รวบรวมข้อมูล



          ขณะที่ น.ส. กฤติกา บุณยชาติพิสุทธิ์ ผู้ชำนาญการสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า เรื่องสำคัญที่ประชาชนห่วงใย คือ เรื่องอุบัติเหตุและความปลอดภัย คุณภาพอากาศ เสียง ความสั่นสะเทือน การคมนาคมขนส่ง ระหว่างการก่อสร้าง การควบคุมน้ำท่วม การระบายน้ำ การโยกย้ายและการเวนคืน ยืนยันว่า การจัดทำโครงการนี้เป็นการหลีกเลี่ยงการเวนคืนพื้นที่ของเอกชนให้มากที่สุด แต่ขึ้นอยู่กับการออกแบบ



          ในเวทีการรับฟังความคิดเห็น ผู้แทนจากหลายภาคส่วน ได้เสนอความคิดเห็นหลากหลาย ดร.วิรัช กล่าวว่า กทพ.จะนำข้อมูลไปศึกษา เพื่อให้การแก้ปัญหาการจราจรบนทางพิเศษมีประสิทธิภาพ และลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนให้น้อยที่สุดและจะเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นอีกหลายครั้ง



         ส่วนการเสนอความคิดเห็น เช่น เสนอให้ กทพ. ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ประสานงานกับการประปา เนื่องจากโครงการก่อสร้างใกล้โรงผลิตน้ำสามเสน และรถไฟฟ้าบีทีเอส สถานีสนามเป้าและอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เสนอให้มีมาตรการติดตามผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม ขณะที่มีตัวแทนจากชุมชนที่เคยได้รับผลกระทบจากการถูกเวนคืน เกรงว่าจะได้รับผลกระทบอีก เนื่องจาก มีหลายโครงการทับซ้อนกัน



         โครงการนี้อยู่ในช่วงแรก 2565-2567 จากนั้นจะเริ่มงานศึกษาความเหมาะสมและจัดทำผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ขออนุมัติแผนงานจัดทำผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เมื่อผ่านการอนุมัติ จะเริ่มขอใช้พื้นที่ เริ่มดำเนินการ 2568-2573 ใช้ระยะเวลาการก่อสร้าง 60 เดือน มีทางขึ้นจากทางด่วนเดิม 3 แห่ง



-งามวงศ์วาน(ขาเข้าเมือง)



-บางซื่อ ย่านพหลโยธิน (ขาเข้าเมือง)



-อโศก (ขาเข้าเมือง)



ทางลงสู่ทางด่วนเดิม 4 แห่ง



-งามวงศ์วาน (ขาออกเมือง)



-บางซื่อ ย่านพหลโยธิน (ขาออกเมือง)



-มักกะสัน (ขาออกเมือง)



-อโศก (ขาออกเมือง)



ด่านเก็บค่าผ่านทาง 2 แห่ง



-ด่านประชาชื่น (ชั้นที่ 2)



-ด่านมักกะสัน



 



#การทางพิเศษแห่งประเทศไทย



#เวทีรับฟังความคิดเห็น



#โครงการทางพิเศษยกระดับชั้นที่2



CR:Expressway-Upgrade-Phase1,การทางพิเศษแห่งประเทศไทย 



 



 

ข่าวทั้งหมด

X