กรมวิทย์ฯแถลง ไทยพบโควิด-19 BA2.75 เพิ่มขึ้นร้อยละ 42.9

22 พฤศจิกายน 2565, 19:04น.


          สถานการณ์โควิด-19 ในไทย นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันสายพันธุ์โอไมครอนเป็นสายพันธุ์หลักที่แพร่กระจายอยู่ในประเทศไทย จากการติดตามสายพันธุ์น่ากังวลที่อาจพบจากผู้เดินทางเข้าประเทศ โดยช่วงวันที่ 12-18 พฤศจิกายน 2565 ผลการตรวจเฝ้าระวังแบบ SNP/Deletion ด้วยวิธี RT-PCR จำนวน 246 คน พบสัดส่วนของโอไมครอนสายพันธุ์ BA.2.75 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ42.9 จากสัปดาห์ก่อนที่มีสัดส่วนร้อยละ 23.6 และเมื่อแยกตามกลุ่ม พบว่าส่วนใหญ่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในกลุ่มผู้ติดเชื้อในประเทศจากร้อยละ 23.2 เป็น ร้อยละ 43.9 โดยเฉพาะพื้นที่เขตสุขภาพที่ 2, 6, 11 และ 12 ที่พบสัดส่วนมากกว่าครึ่งเป็นสายพันธุ์ BA.2.75



          เชื้อโควิดสายพันธุ์ BA.2.75 ตรวจพบครั้งแรกในอินเดียเมื่อต้นเดือนพฤษภาคม 2565 และแพร่กระจายอย่างรวดเร็วตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา สายพันธุ์ BA.2.75 มีการกลายพันธุ์อย่างหนึ่งที่สำคัญ คือ G446S บนโปรตีนหนาม ซึ่งจับกับตัวรับในเซลล์ของมนุษย์ และเกี่ยวข้องกับการหลบภูมิคุ้มกัน



          สำหรับ BA.2.75 (The Super Contagious Omicron Subvariant) จากข้อมูลของ ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดลระบุ ชื่ออย่างไม่เป็นทางการคือ “เซนทอรัส (Centaurus)” มีการกลายพันธุ์ไปมากที่สุด เมื่อเทียบกับไวรัสโคโรนา 2019 ทุกสายพันธุ์ที่มีการระบาดมาในอดีตจนถึงปัจจุบัน โดยมีการกลายพันธุ์ต่างจากไวรัสดั้งเดิม (อู่ฮั่น) ไปมากกว่า 100 ตำแหน่ง อาจมีข้อได้เปรียบในการแพร่ระบาด โดยในประเทศไทยรายงาน BA.2.75 ครั้งแรกเมื่อปลายเดือนมิถุนายน 2565



          นอกจากนี้ยังพบสายพันธุ์ BQ.1 ที่ระบาดในอเมริกาและยุโรป จำนวน 9 ราย ส่วนสายพันธุ์ XBB ที่ระบาดมากในสิงคโปร์ พบจำนวน 13 ราย ทั้งนี้ยังไม่พบสัญญาณความรุนแรงของเชื้อที่กลายพันธุ์แต่อาจจะทำให้มีการแพร่และติดเชื้อง่ายขึ้น 



 



#โควิด19



#กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ 



 

ข่าวทั้งหมด

X