นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีแถลงถึงการออกคำสั่งหัวหน้าคสช.ตามประกาศมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวแทนการประกาศใช้กฎอัยการศึกว่า นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี มีการข่าวรายงานต่อรัฐบาลว่ามีสถานการณ์สำคัญที่ไม่น่าไว้วางในหลายเหตุการณ์ โดยเฉพาะความผิดที่กระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ การกระทำความผิดที่กระทบความมั่นคงราชอาณาจักร พวกนี้เป็นเรื่องรุนแรงที่มีอยู่ กล่าวโดยสรุปมี 5 เหตุการณ์ คือ 1.อาจมีผู้สูญเสียอำนาจทางการเมืองในอดีตบางคนอาจก่อความไม่สงบเรียบร้อยขึ้น2.กลุ่มทุน กลุ่มเศรษฐกิจหรือมีอิทธิพลที่ได้รับผลกระทบต่อการจัดระเบียบสังคมและก่อความไม่สงบขึ้นเพื่อปกป้องผลประโยชน์ทางธุรกิจของตน 3.กลุ่มที่ทราบว่ากำลังจะเข้าสู่โรดแม็ปช่วงที่ 3 เตรียมเลือกตั้ง ประกาศใช้รัฐธรรมนูญจึงอาจก่อความไม่สงบเรียบร้อยบางอย่างขึ้นในบางพื้นที่ ฉวยโอกาสให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในอนาคต 4.กลุ่มสร้างสถานการณ์ให้เกิดความไม่เรียบร้อยขึ้น พวกนี้อาจไม่มีเจตนาทางการเมือง แต่เจตนาเรื่องอื่น 5.กลุ่มที่รู้สึกว่าได้รับความกระทบกระเทือนได้รับความเดือดร้อน ไม่ได้รับความเป็นธรรม 2มาตรฐาน เดือดร้อนทางเศรษฐกิจสังคม เป็นกลุ่มสุจริตอาจไม่มีเจตนาทางการเมืองแอบแฝง อาจจะระบายโดยการก่อความไม่สงบ วางระเบิดบ้าง หรือระบายทางอื่น ทั้ง5กลุ่ม อาจเป็นการยืนยันว่าความไม่เรียบร้อยอาจเกิดขึ้นได้ หน้าที่รัฐบาลและคสช.ต้องรักษาความสงบเรียบร้อย ไม่ต้องการให้เหตุการณ์ย้อนไปเหมือน 22 พ.ค.57 เลยต้องมีมาตรการกันไว้ดีกว่าแก้
ความแตกต่างระหว่างการประกาศกฎอัยการศึกกับการออกคำสั่งหัวหน้าคสช.ตามมาตรา 44 มีความแตกต่างอย่างน้อย 4 ประการ เรื่องสถานการณ์ การออกคำสั่งตามมาตรา 44 จะถือว่าประเทศไม่ได้อยู่ภายใต้กฎอัยการศึก ยกเว้นตามชายแดนที่ประกาศใช้แต่เดิมความแตกต่างเรื่องศาลทหาร ถ้ามีกฎอัยการศึกจะถูกพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นเพียงศาลเดียวแล้วจบถึงที่สุด แต่ยกเลิกอัยการศึกแล้วคดีที่ถูกฟ้องสามารถอุทธรณ์ ฎีกาได้ไปถึง 3 ศาล .แตกต่างในแง่อำนาจเจ้าหน้าที่กฎอัยการศึกให้อำนาจเจ้าหน้าที่มาก เมื่อยกเลิกแล้วอำนาจจะเหลือเท่าที่เขียนในคำสั่ง ซึ่งเป็นลอกเรื่องอำนาจเจ้าหน้าที่มาจากพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เช่น เรื่องการเรียกรายงานตัว จับ ควบคุมตัวได้ไม่เกิน 7 วัน ถ้าเกินต้องไปขออนุญาตศาล รวมทั้งเรื่องการห้ามสื่อก็อยู่ในอำนาจในพ.ร.ก.ฉุกเฉิน .เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติ ตามกฎอัยการศึกเจ้าหน้าที่ทหารมีอำนาจปฏิบัติตาม แต่ตามคำสั่งหัวหน้าคสช.เจ้าหน้าที่ที่จะปฏิบัติเรียกว่าเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย จะต้องเป็นนายทหาร ยกตั้งแต่ ร้อยตรี เรือตรี ร้อยอากาศตรี ชั้นสัญญาบัตรขึ้นไปและหัวหน้าคสช.ออกคำสั่ง เจ้าหน้าที่อื่นไม่มีอำนาจในเรื่องนี้ ตำรวจไม่อาจเป็นพนักงานตามคำสั่งหัวหน้าคสช.แต่สามารถขอความร่วมมือได้
ส่วนองค์กรระหว่างประเทศและองค์กรทางด้านสิทธิมนุษยชนตั้งข้อสังเกตและมีความกังวลในการนำพลเรือนขึ้นศาลทหาร รองนายกฯ กล่าวว่า รัฐบาลรับทราบข้อมูลดังกล่าว แต่ในขั้นตอน ณ ขณะนี้ยังไม่มีเหตุผลอะไรที่จะมองว่าศาลทหารไม่ให้ความเป็นธรรม สิ่งหนึ่งที่อาจจะทำให้วางใจและเบาใจได้ คือการให้คดีดำเนินไปใน 3 ศาล และอีกไม่กี่วันจะมีการซักซ้อมความเข้าใจอย่างเป็นทางการในการบริหารและใช้แต่ละข้อ ว่าจะต้องเตรียมการและทำอย่างไร มีขั้นตอนอย่างไร ไม่ใช่อยู่ดีๆเจ้าหน้าที่พรวดพาดไปลงมือจัดการจะโดนฟ้องได้