*ความเคลื่อนไหวเมืองไทยวันนี้เวลา07.30น.*

02 เมษายน 2558, 08:52น.


+++ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล  รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในวันคล้ายวันพระราชสมภพ พระชนมายุ 60 พรรษา 2 เม.ย.2558



การจัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ พระผู้สร้างรอยยิ้ม แบ่งเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 พระปรีชาสามารถ ตกแต่งพื้นที่ด้วยการ์ตูนลายฝีพระหัตถ์ จัดแสดงหนังสือพระราชนิพนธ์ ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ บทเพลงพระราชนิพนธ์ จุดลงนามถวายพระพร และการจำหน่ายสินค้าจากร้านภูฟ้า และ ในส่วนที่ 2 พระจริยวัตร จัดแสดงพระฉายาลักษณ์ที่แสดงถึงพระจริยวัตรที่งดงาม เปี่ยมไปด้วยรอยยิ้ม โดยแบ่งตามช่วงพรรษา และในส่วนที่ 3 พระกรุณาธิคุณ จัดแสดงพระราชกรณียกิจและพระกรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทย โดยจัดแสดงดนตรี และฉายภาพยนตร์ประกอบเพลง พระผู้สร้างรอยยิ้ม



+++สำนักพระราชวัง เปิดให้ลงนามถวายพระพร สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในวันที่ 2 เม.ย. 2558 ตั้งแต่เวลา 09.00-17.00 น. ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาทและศาลาสหทัยสมาคม ในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งในเวลา 09.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และภริยา ลงนามถวายพระพรชัยมงคล สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ณ ศาลาสหทัยสมาคม ในพระบรมมหาราชวัง และในเวลา 16.30 น. นายกฯและภริยา เดินทางถึงพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ในพระบรมมหาราชวัง เพื่อร่วมพระราชพิธีฉลองพระชนมายุ 5 รอบ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ในพระบรมมหาราชวัง จากนั้น เวลา 19.19 น. นายกฯ และภริยา เป็นประธานในพิธีกล่าวถวายราชสดุดีเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสฉลองพระชนมายุ 5 รอบ 2 เมษายน 2558 พร้อมนำกล่าวถวายพระพรชัยมงคล ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง



+++เรื่องสภาพอากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา เตือนประชาชนระวังฝนฟ้าคะนองลมแรงด้วย ทั่วทุกภาคอากาศร้อน ลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคกลาง ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวมียังคงฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงเกิดขึ้น สำหรับคลื่นกระแสลมตะวันตกได้เคลื่อนเข้าปกคลุมตอนบนสุดของภาคเหนือแล้ว ทำให้บริเวณดังกล่าวจะมีฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงเกิดขึ้นได้บางแห่ง



+++ เมื่อค่ำวานนี้ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ได้ออกประกาศ เลิกใช้กฎอัยการศึก พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ รับสนองพระบรมราชโองการ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯให้ประกาศว่า ตามที่ได้มีการประกาศใช้ พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก ลงวันที่ 20 พฤษภาคม 2557 ทั่วราชอาณาจักรและประกาศคสช.ฉบับที่ 2/2557 เรื่องการประกาศใช้กฎอัยการศึก ลงวันที่ 22 พฤษภาคม2557  เป็นต้นมา บัดนี้ สถานการณ์ความจำเป็นต้องใช้กฎอัยการศึกตามประกาศทั้ง2ฉบับแล้ว  จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เลิกใช้กฎอัยการศึก ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2558 จากนั้น ได้มีประกาศของคสช. อาศัยอำนาจตามมาตรา 44  ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวพ.ศ.2557 เพื่อควบคุมสถานการณ์ จากนั้นมีประกาศ คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 เรื่อง การรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ หลังจากที่มีประกาศพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้ยกเลิกการประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักรแล้ว สมควรมีมาตรการดำเนินการกับการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลายความสงบเรียบร้อย ความมั่นคงของชาติ การฝ่าฝืนประกาศหรือคำสั่งคสช. และการกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้ เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน ซึ่งคุกคามความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ ดังนั้น หัวหน้าคสช.จึงเห็นจำเป็นเพื่อป้องกันและปราบปรามการกระทำดังกล่าวให้ลดน้อย หรือ หมดสิ้นลงโดยเร็ว ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้เกิดผล กระทบต่อสุจริตชนและความเป็นอยู่ของประชาชนทั่วไป



+++นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กล่าวถึง มาตรการรองรับเมื่อยกเลิกกฎอัยการศึกว่า มาตรา 44 เป็นการยิงปืนนัดเดียวได้นก 2 ตัว แต่พ.ร.ก. ฉุกเฉินและพ.ร.บ.ความมั่นคง ยิงนกได้แค่ตัวเดียว นายวิษณุกล่าวว่า นายกฯ ปรารภว่าต้องนำมาตรา 44 มาใช้สร้างสรรค์ ไม่ใช่คุกคามหรือทำให้ใครเดือดร้อน หากมีใครเดือดร้อนจากมาตรา 44 ก็ตอบว่ามีกลไกรองรับ ในตัวคำสั่งสามารถประกาศใช้ได้ทันทีหากมีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ยกเลิกกฎอัยการศึก ถ้าจำเป็นในส่วนตัวอาจต้องชี้แจงอีกครั้ง



+++พล.อ.ประยุทธ์  มอบหมายให้นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และเครือข่ายศูนย์ปฏิบัติการนายกฯ สร้างความเข้าใจและขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนสนับสนุนการทำงานของรัฐบาลในระยะที่สอง เพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งสร้างความเข้าใจในการใช้มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ด้วย



+++พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหม ในฐานะผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) และเลขาธิการคสช.กล่าวว่า ในฐานะที่ดูแลความมั่นคง อยากให้ประชาชนเข้าใจว่าขณะนี้สถานการณ์แม้ว่าจะดูสงบเรียบร้อย แต่บางสิ่งบางอย่างอาจไม่เรียบร้อยอยู่บ้าง โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัย ซึ่งใน1-2 เดือน ยังมีผู้ไม่ปรารถนาดีก่อความไม่สงบขึ้น จึงยังจำเป็นต้องมีกฎหมายพิเศษ เพราะกฎหมายปกติอาจไม่ทันต่อเหตุการณ์ถือเป็นความจำเป็นที่ต้องใช้ และมีเพื่อประโยชน์ของส่วนร่วมและเพื่อความสงบสุข ดังนั้นอย่าไปกังวลในสิ่งต่างๆมากนัก เพราะประชาชนที่ดำเนินชีวิตปกติไม่ได้รับผลกระทบจากกฎหมายพิเศษเหล่านี้ ส่วนข้อสรุปเรื่องการควบคุมตัวผู้ต้องสงสัย7 วัน และการนำพลเรือนที่กระทำความผิดขัดคำสั่งคสช.ฉบับที่ 37 ขึ้นศาลทหาร  พล.อ.อุดมเดช กล่าวว่า เป็นไปตามขั้นตอนกฎหมาย ซึ่งคำสั่งคสช.ถือเป็นกฎหมาย เมื่อกฎหมายระบุอย่างไรก็ต้องเป็นอย่างนั้น แต่ไม่ต้องกังวลว่าจะเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน เพราะเจ้าหน้าที่คำนึงถึงสิ่งเหล่านี้ เชื่อว่าทุกคนยอมรับได้ ส่วนที่จะมีการเพิ่มเติมให้เจ้าหน้าที่ตำรวจร่วมเป็นเจ้าพนักงานร่วมกับทหารนั้น ยอมรับว่าเป็นสิ่งหนึ่งที่มีการปรับ โดยจากเดิมที่ทหารเป็นเจ้าพนักงานฝ่ายเดียวในการเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ทำให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่ไม่ได้เข้าไปทำงานเพียงส่วนเดียว แต่ร่วมกันปฏิบัติงานแก้ไขปัญหาต่างๆ เมื่อมีเหตุเกิดขึ้นก็จะทำงานให้ข้อคิดเห็นและประสานงานร่วมกัน คงทำให้ความรู้สึกต่างๆดีขึ้น ขอให้ทุกคนเข้าใจและร่วมมือกับรัฐบาลในกฎหมายที่ออกมาใหม่



+++การประชุมคณะกรรมาธิการ(กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ เป็นการประชุมลับ พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษกคณะกมธ. เปิดเผยว่า ที่ประชุมเห็นชอบให้ปรับปรุงเนื้อหาที่มานายกฯ  กรณีที่ไม่ได้เป็น ส.ส. จะต้องได้รับคะแนนเสียงสนับสนุน 2 ใน 3 ของสภาผู้แทนราษฎร แต่ไม่ได้เปลี่ยนวาระการดำรงตำแหน่งที่กำหนดไว้ 4 ปี



+++ปรับแก้ที่มาของสมาชิกวุฒิสภา( ส.ว.) โดยให้คงจำนวน 200 คน แต่มาจาก 3 กลุ่ม คือ การเลือกตั้งกันเอง  มาจากการสรรหา และมาจากการเลือกตั้ง 77 จังหวัด  โดยกลุ่มแรกมาจากการเลือกตั้งกันเองมี 65 คน ประกอบด้วย จากผู้เคยเป็นข้าราชการพลเรือน ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งปลัดหรือเทียบเท่า และข้าราชการทหารระดับปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการเหล่าทัพแต่ละประเภทเลือกกันเองกลุ่มละไม่เกิน 10 คน  รวม 20 คน /ผู้แทนสภาวิชาชีพ องค์กรวิชาชีพ หรืออาชีพที่มีกฎหมายจัดตั้งเลือกกันเองจำนวนไม่เกิน 15 คน /ผู้แทนองค์กรด้านเกษตรกรรม แรงงาน วิชาการ ชุมชนและท้องถิ่น เลือกกันเองไม่เกิน 30 คนพล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวว่า ขณะที่กลุ่มที่ 2 มาจากการสรรหาจำนวน 58 คน  ประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิและคุณธรรมด้านการเมือง ความมั่นคง การบริหารราชการแผ่นดิน กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม การปกครองท้องถิ่น การศึกษา การเศรษฐกิจ การสาธารณสุข สิ่งแวดล้อม ผังเมือง ทรัพยากรธรรมชาติ พลังงาน วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สังคม ชาติพันธุ์ ศาสนา ศิลปวัฒนธรรม คุ้มครองผู้บริโภค เด็ก และเยาวชน สตรี ผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาส ปราชญ์ชาวบ้าน และผู้ประกอบการวิชาชีพอิสระ และกลุ่มที่ 3 มาจากการเลือกตั้งในแต่ละจังหวัด ๆ ละ 1 คน โดยให้เลือกตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิและคุณธรรมด้านต่าง ๆ ที่ผ่านการสรรหาจังหวัดละไม่เกิน 10 คน เพื่อให้ประชาชนเลือกเหลือ 1 คนในแต่ละจังหวัด โดยให้กำหนดวันเลือกตั้งในวันเดียวกับ ส.ส.ปรับแก้ไขให้ ส.ว.ครึ่งหนึ่ง ต้องพ้นวาระเมื่อทำงานครบ 3 ปี คือ กลุ่มที่เลือกตั้งกันเอง 65 คน และจับสลากในกลุ่มที่มาจากการสรรหา 58 คน เอาออก 35 คน รวม 100 คน แต่ยังให้สิทธิผู้ที่พ้นวาระสามารถเข้ารับการสรรหาได้ต่อ ทั้งนี้เหตุที่ต้องใช้วิธีการสรรหาผู้สมัคร ส.ว.จังหวัดให้เหลือ 10 คนก่อนให้ประชาชนเลือก เพื่อต้องการให้มีการคัดกรองบุคคลในสาขาอาชีพที่ไม่ซ้ำกันและเพื่อให้ที่มาของ ส.ว.ต่างจาก ส.ส. ไม่เช่นนั้น ส.ว.เลือกตั้งจะมีฐานไม่ต่างจาก ส.ส. ส่วนคณะกรรมการสรรหา ส.ว.จะมีการพิจารณารายละเอียดและคุณสมบัติในสัปดาห์หน้า



+++ด้านนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “สปช.กับการยกร่างรัฐธรรมนูญ” ในงานประชุมนิติศาสตร์แห่งชาติ ครั้งที่ 10 ระบุว่า ในวันที่พิจารณารัฐธรรมนูญร่างแรก ในแต่ละวันจะใช้เวลาอภิปรายมากกว่า 12 ชั่วโมง และต้องเสร็จสิ้นก่อนเวลา 24.00 น.ของวันสุดท้าย จากนั้นสปช.จะเสนอแก้ไขเพิ่มเติมได้ภายใน 30 วัน เช่นเดียวกับคณะรัฐมนตรี(ครม.) และคสช. คาดว่ารัฐธรรมนูญร่างสุดท้ายจะแล้วเสร็จปลายเดือนก.ค. ก่อนเสนอสปช.ลงมติเห็นชอบหรือไม่ในเดือนก.ย. ทั้งนี้  ปัจจุบันเสียงเรียกร้องให้ทำประชามติดังขึ้น และคาดว่าผู้มีอำนาจจะเป็นผู้ตัดสินใจในเรื่องนี้ แต่อาจมีปัญหาตามมาว่า หากผลการลงมติของ สปช.กับผลการทำประชามติ ออกมาไม่ตรงกันจะดำเนินการต่อไปอย่างไร นายเทียนฉาย กล่าวว่า สัมพันธภาพระหว่าง สปช.กับกมธ.เป็นไปด้วยดี สมานฉันท์ วิพากษ์วิจารณ์และแสดงความคิดเห็นในร่างรัฐธรรมนูญด้วยเหตุและผล แต่ยอมรับว่ามีโอกาสที่ สปช.จะไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญก็ได้ เพราะเป็นเรื่องปกติของความคิดเห็นที่แตกต่าง แต่ยืนยันไม่มีพิมพ์เขียวในการยกร่างรัฐธรรมนูญ เพราะคณะกมธ. เปิดให้ทุกฝ่ายเข้าร่วมสังเกตการณ์การยกร่างครั้งนี้ 



+++ความคืบหน้าการออกหมายจับเพิ่มเติมผู้ต้องหาร่วมกันขว้างระเบิดศาลอาญา มีรายงานระบุว่า พล.ต.ท.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล ผบช.น.  เปิดเผยว่าคณะพนักงานสอบสวนคดีคนร้ายขว้างปาระเบิดศาลอาญารัชดาได้รวบรวมพยานหลักฐานเสนอศาลทหารกรุงเทพ อนุมัติออกหมายจับ นายธราเทพ มิตรอารักษ์ ลูกชายนางสุภาพร มิตรอารักษ์ หรือ เดียร์  ที่มีส่วนในการจ้างหาคนมาขว้างระเบิดใส่ศาลอาญา รัชดา



+++นางสุวณา สุวรรณจูฑะ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เปิดเผยว่า ช่วงสายวันนี้ พนักงานสอบสวนจะนำตัวนายศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตประธานสหกรณ์ฯ พร้อมสำนวนการสอบสวนที่ดีเอสไอมีความเห็นสั่งฟ้องคดียักยอกในส่วนที่มีผู้เสียหายกว่า 20 คน วงเงินความเสียหาย 27 ล้านบาท ไปยื่นให้พนักงานอัยการพิจารณาสั่งฟ้องเป็นคดีที่ 3 จากนั้นจะนำตัวนายศุภชัย มายื่นคำร้องขอฝากขังต่อศาลอาญา เนื่องจากเป็นคดีที่มีมูลค่าความเสียหายสูงและมีผู้เสียหายจำนวนมาก พนักงานสอบสวนเกรงจะหลบหนีหรือมีพฤติกรรมยุ่งเหยิงพยาน จึงขอคัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราว  นางสุวณา กล่าวถึงการรับสอบสวนคดีความผิดฐานฟอกเงินภายหลังตรวจสอบพบว่า นายศุภชัย โอนขายที่ดิน หน้าสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) จะเข้ายึดทรัพย์ว่า ดีเอสไอสอบสวนความผิดเกี่ยวกับการยักยอกสหกรณ์ฯในรูปคณะพนักงานสอบสวน ซึ่งมีพนักงานอัยการร่วมเป็นที่ปรึกษา ดังนั้นในการประชุมคณะพนักงานสอบสวนประจำสัปดาห์ในวันที่ 3 เม.ย.นี้ จะนำหลักฐานที่ตรวจสอบพบให้คณะพนักงานสอบสวนร่วมกันพิจารณา เพื่อมีมติร่วมกันว่าดีเอสไอจะรับคดีฟอกเงินที่ได้จากการยักยอกฉ้อโกงสหกรณ์ไว้เป็นคดีพิเศษหรือไม่



+++รายงานข่าวจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) แจ้งว่า พล.อ.ประยุทธ์ มีคำสั่งที่ 68/2558 ลงวันที่ 2 มีนาคม 2558 เรื่องแต่งตั้งคณะสอบสวนตำรวจ นำโดย พล.ต.ท.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) ไปร่วมสอบสวนกับนางสุวณา และพนักงานอัยการ ประชุมร่วมกันเพื่อวางกรอบแนวทางการสอบสวนในคดี 99 ศพที่ค้างอยู่ให้เสร็จสิ้น คณะทำงานได้ประชุมวางแนวทางการสอบสวนและทบทวนเพื่อแต่งตั้งพนักงานสอบสวนชุดใหม่ เนื่องจากทั้งตำรวจนครบาลและดีเอสไอในชุดพนักงานสอบสวนชุดเก่าได้ปรับเปลี่ยนโยกย้ายและเกษียณอายุราชการ จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ขึ้น



+++เรื่องการบินไปญี่ปุ่น พล.อ.อ. ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า กรมการบินพลเรือนของญี่ปุ่น (เจแค็บ) ได้แจ้งมายังกรมการบิน พลเรือน (บพ.) ว่าได้เห็นความตั้งใจของรัฐบาล ไทย กระทรวงคมนาคม และ บพ.ในการแก้ไขปัญหาตามขั้นตอนกระบวนการรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศ (ไอโอซี) และการแก้ไขข้อบกพร่องที่มีนัยยะสำคัญต่อความปลอดภัย (เอสเอสซี) วันนี้ เจแค็บ จะร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) กับ บพ. เพื่อผ่อนปรนให้สายการบินของไทยที่บิน ไม่ประจำ และมีตารางการบินช่วงฤดูร้อนสามารถทำการบินเข้า-ออกญี่ปุ่นได้ใน 2 เดือน คือ เมษายน-พฤษภาคม 2558 แต่ญี่ปุ่นจะขอตรวจสอบเข้มงวดเครื่องบินทุกลำจากไทยที่บินเข้าญี่ปุ่น ถือเป็นมาตรการระยะสั้นเพื่อ แก้ปัญหาที่เกิดขึ้น  สำหรับการแก้ไขในระยะกลาง ระยะยาว บพ.จะเร่งจัดทำแผนให้ชัดเจนและให้แล้วเสร็จภายใน 38 เดือน โดยเฉพาะการปรับปรุงที่เกี่ยวข้องกับการ ออกใบอนุญาตทำการบิน และดูข้อบกพร่องที่มีนัยยะสำคัญต่อความปลอดภัยทางการบิน ให้ได้มาตรฐาน และสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศต่างๆ หากไทยไม่เร่งแก้ไขจะส่งผลให้ไอซีเอโอไม่รับรองได้ และกระทบต่อสายการบินที่ทำการบินประจำทันที นอกจากนี้ได้มอบหมายให้ บพ.ออกเดินทางทำความเข้าใจในมาตรฐานความปลอดภัยกับกรมการบินพลเรือนของประเทศต่างๆ โดยในวันที่ 2 เมษายน จะเดินทางไปเกาหลีใต้ วันที่ 8 เมษายน เดินทางไปจีน และสัปดาห์หน้าจะไปประเทศออสเตรเลียและเยอรมนี



 



 

ข่าวทั้งหมด

X