ที่ประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ (UNGA) มีมติ 185-2 เสียงประณามสหรัฐอเมริกาที่ใช้มาตรการคว่ำบาตรคิวบา และเรียกร้องให้ยุติมาตรการที่ดำเนินมาเป็นเวลานานหลายสิบปี ซึ่งยังเป็นการลงมติประณามเป็นครั้งที่ 30 แล้ว โดยในญัตติฉบับล่าสุดที่คิวบาเสนอต่อสมัชชาสหประชาชาติ ได้อ้างถึงวิกฤตเศรษฐกิจในประเทศ ที่เกิดจากการใช้มาตรการคว่ำบาตร
อย่างไรก็ตาม มติของสมัชชาใหญ่สหประชาชาติไม่มีผลผูกมัดให้ต้องปฏิบัติตาม และ 2 เสียงที่คัดค้านคือสหรัฐอเมริกา กับอิสราเอล ส่วนบราซิลและยูเครนงดออกเสียง
นายจอห์น เคลลีย์ ผู้ประสานงานการเมืองของสหรัฐฯ กล่าวต่อที่ประชุมว่า สหรัฐฯ คัดค้านมตินี้ แต่ยืนยันว่าสหรัฐฯ อยู่เคียงข้างชาวคิวบาและจะแสวงหาหนทางเพื่อให้การสนับสนุนที่มีความหมายแก่คิวบาต่อไป
อย่างไรก็ตาม นายยูริ กาลา รองผู้แทนคิวบา ประจำสหประชาชาติ กล่าวว่า หากรัฐบาลสหรัฐฯสนใจเรื่องสวัสดิการ สิทธิมนุษยชน และสิทธิในการกำหนดอนาคตของชาวคิวบาอย่างแท้จริง ก็ควรยกเลิกมาตรการคว่ำบาตร
สหรัฐฯ ออกมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจคิวบา ในปี 2503 หลังการปฏิวัติที่นำโดยนายฟิเดล คาสโตร แล้วมีการยึดทรัพย์สินของพลเมืองและบริษัทของสหรัฐฯ มาเป็นของรัฐ หลังจากนั้นสหรัฐฯมีการออกมาตรการเพิ่มเติมเป็นระยะ จนมาถึงรัฐบาล นายบารัค โอบามา เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ จึงมีการดำเนินการหลายขั้นตอนเพื่อบรรเทาความตึงเครียด รวมถึงการฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับคิวบาอย่างเป็นทางการ และการเดินทางเยือนฮาวานาในปี 2559
เมื่อนายโดนัลด์ ทรัมป์ เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ เขากลับมาใช้แนวทางที่เข้มงวดมากขึ้น และยกระดับการคว่ำบาตร
มาถึงรัฐบาลของนายโจ ไบเดน ในปัจจุบันมีการผ่อนคลายข้อจำกัดเพียงเล็กน้อย เพิ่มเงินอุดหนุนกับเปิดเที่ยวบินไปคิวบา แต่มีความตึงเครียดระหว่าง 2 ประเทศเพิ่มขึ้นในหลายประเด็น เช่น การย้ายถิ่น ความมั่นคง และความสัมพันธ์ระดับภูมิภาค
นายบรูโน โรดริเกซ รัฐมนตรีการต่างประเทศคิวบา กล่าวว่า ในช่วง 14 เดือนที่นายไบเดนเป็นประธานาธิบดี มีการเพิ่มมาตรการคว่ำบาตร ทำให้เศรษฐกิจคิวบา เสียหายประมาณ 6,350 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
แต่ตัวแทนของสหรัฐฯ ตอบโต้ว่ามาตรการคว่ำบาตรเพิ่มเติม เป็นผลมาจากการที่รัฐบาลคิวบาละเมิดสิทธิมนุษยชน มีการปราบปรามผู้ประท้วงในเดือนกรกฎาคม 2564 ที่เรียกร้องเสรีภาพทางการเมืองและสภาพเศรษฐกิจที่ดีขึ้น
…
#สมัชชาสหประชาชาติ
#คิวบา