ธนาคารกลางญี่ปุ่นเข้าแทรกแซงค่าเงินเยนเป็นครั้งที่ 3 ในรอบ 1 เดือนเช้าวันนี้ โดยเมื่อวันศุกร์ (21 ต.ค.) เข้าแทรกแซงค่าเงินเป็นครั้งที่ 2 เมื่อเงินเยนอ่อนค่าลงมาใกล้ระดับ 152 เยนต่อดอลลาร์ แต่ในเช้าวันนี้เงินเยนยังคงอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องจนแตะระดับ 149 เยนต่อดอลลาร์ ทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นเข้าแทรกแซงค่าเงินเยนอีกครั้ง ซึ่งเป็นครั้งที่ 3
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย และกรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ โพสต์ข้อความผ่านเฟสบุ๊ก Kobsak Pootrakool แสดงความเห็นต่อการเข้าแทรกแซงค่าเงินเยนของรัฐบาลญี่ปุ่นในครั้งนี้ว่าเป็น “บทเรียนที่จะแพงมากของญี่ปุ่น !!!” โดยระบุว่า
"ช่วงสุดสัปดาห์นี้ ทางการญี่ปุ่นเข้าแทรกแซงค่าเงินเยนรอบที่ 2 โดยรอบนี้ น่าจะใช้เงินไปมากกว่า 1.1 ล้านล้านบาท !!!!
แต่หลังค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้นได้ประมาณ 7-8 ชั่วโมง นับแต่เที่ยงคืนวันศุกร์ที่ทางการญี่ปุ่นเข้าแทรกแซง วันนี้เมื่อตลาดเปิด เงินเยนก็เริ่มอ่อนค่าลงอีกรอบ
ล่าสุดอยู่ที่ 149.7 เยน/ดอลลาร์ อ่อนลง 3.5 เยน จากที่แข็งขึ้นมา 6 เยน พูดง่ายๆ เงินที่ลงไปมากกว่า 30,000 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 1.1 ล้านบาทขึ้นไป (จากการประมาณการของ fx trader) ละลายหายไปในแม่น้ำ เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น
ค่าเงินเยนเช้าวันนี้ แทบจะไม่ต่างจากค่าเงินเยนสัปดาห์ก่อนหน้า โดยที่แข็งขึ้นมาได้ จากการแทรกแซงรอบที่ 2 ก็หายไปเกินครึ่งแล้ว ทำให้ทางการญี่ปุ่นอดใจไม่ได้ สั่งเข้าแทรกแซงเป็นรอบที่ 3 เช้านี้ หลังจาก รมต.คลัง ของญี่ปุ่น ออกมากล่าวว่า เรากำลังสู้กับนักเก็งกำไรอยู่ !!! ทุบค่าเงินเยนลงไปที่ 145.56 เยน/ดอลลาร์
แต่ล่าสุดเพียง 20 นาทีให้หลัง ค่าเงินเยนก็กลับมาที่ 148 เยน/ดอลลาร์ อีกครั้ง ล่าสุดอยู่ที่ 149 เยน/ดอลลาร์ ใกล้ๆ กับที่ก่อนเข้าแทรกแซง
เป็นบทเรียนให้ทางการญี่ปุ่นว่า ช่วงนี้ยากที่จะฝืนตลาด ทำไปมีแต่กลายเป็นเหยื่ออันโอชะ ให้กับนักเก็งกำไร
ทั้งนี้ Bank of America ประมาณการจากสินทรัพย์สภาพคล่องในเงินสำรองระหว่างประเทศของญี่ปุ่น คาดว่าจะสามารถเข้าแทรกแซงแบบนี้ได้อีกประมาณ 10 ครั้ง แย้งกับที่ทางการญี่ปุ่นบอกว่า “เราสามารถทำได้อย่างไม่จำกัด” หรือ “Limitless"
ในประเด็นนี้ แม้ญี่ปุ่นมีเงินสำรองล่าสุดอยู่ถึง 1.24 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ดูเหมือนเป็นจำนวนเงินที่มากพอสมควร แต่หากเดินหน้าสู้ไปในลักษณะนี้ สู้แต่ละครั้ง ใช้เงินมาก แต่เสียเงินฟรี กลายเป็นที่ทำเงินให้กับนักเก็งกำไร และทำให้การสู้ครั้งต่อๆ ไปยากยิ่งขึ้น เพราะเมื่อได้กลิ่นเลือด ฝูงปลาฉลามก็จะมาห้อมล้อม รอคอยรอบต่อไป ยิ่งทำ เงินสำรองญี่ปุ่นก็จะค่อยๆ หร่อยหรอลงนำมาซึ่งวิกฤต ที่ไม่ควรมีแต่ต้น กลายเป็นอีกนโยบายที่ผิดพลาด หรือ Policy Mistakes ที่อาจทำให้ต้องซ้ำรอยรัฐบาล Liz Truss !!!
...
#ดรกอบ
#เงินเยน