เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่พระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2558 เนื่องในโอกาสพระราชพิธีฉลองพระชนมายุ 5 รอบ 2 เมษายน พ.ศ.2558 ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ระบุว่าผู้ต้องขังที่ได้รับสิทธิตามหลักเกณฑ์ ที่ระบุไว้ใน พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษ มีทั้งสิ้น 35,000 คนทั่วประเทศ เป็นกลุ่มของผู้ต้องกักขัง ผู้ต้องขังที่พักการลงโทษ อยู่ระหว่างคุมประพฤติ และผู้ต้องขังที่เหลือโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ทั้งนี้ ทางเรือนจำจะทยอยปล่อยผู้ต้องขังที่เข้าเงื่อนไขตาม พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษตั้งแต่ที่ 30 มีนาคม เป็นต้นไป
ซึ่งจากหลักเกณฑ์การลดโทษและปล่อยตัวทำให้ นายสมชาย คุณปลื้ม หรือกำนันเป๊าะ ผู้ต้องหาคดีจ้างวานฆ่า โทษ จำคุก 30 ปี 4 เดือน ถูกคุมขังที่เรือนจำ จ.ชลบุรี ได้รับการลดโทษด้วยเป็นครั้งแรก เช่นเดียวกับ พ.ต.เฉลิมชัย มัจฉากล่ำ หรือผู้พันตึ๋ง ผู้ต้องหาคดีจ้างวานฆ่า ที่ได้อภัยโทษมาแล้ว 3 ครั้ง จนเหลือโทษ 37 ปี ก็ได้รับการลดโทษลงเช่นกัน
ในวันนี้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีในการศึกษาเรื่องการนำมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญชั่วคราวมาใช้แทนกฎอัยการศึก จะแถลงรายละเอียดและขอบเขตการใช้กฎหมายมาตรานี้ รวมทั้งการใช้ศาลพลเรือนแทนศาลทหารด้วย
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเปิดเผยว่า กฎหมายที่นำมาใช้ก็เพื่อป้องกันคนคิดไม่ดีต่อประเทศเท่านั้น ดังนั้น คนดีไม่ต้องเป็นห่วง และไม่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน ที่ผ่านมาทั้งพ.ร.บ.ความมั่นคงและพ.ร.ก.ฉุกเฉินเคยใช้มาแล้วเป็น 10 ปีแต่ก็ไม่ได้ผล
ส่วนพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทยกล่าวว่า การใช้กฎอัยการศึกทำให้ชาวต่างชาติเป็นกังวล แม้เราจะไม่ได้เต็มรูปแบบก็ตาม จึงต้องใช้กฎหมายอื่นที่เหมาะสมและสามารถควบคุมสถานการณ์ได้
ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวว่า อำนาจตามมาตรา 44 คือการให้อำนาจในฐานะหัวหน้ารัฐบาล แต่ก็ขอให้เข้าใจกันบ้าง ทำไมถึงกลัวมาตรา 44 ทุกวันนี้ใช้กฎอัยการศึกหนักกว่ามาตรา 44 ยังไม่กลัวกันเลย และยืนยันอีกครั้งว่า จะใช้อำนาจอย่างสร้างสรรค์ ไม่ได้ใช้เพื่อสร้างความขัดแย้ง ใช้เพื่อทำให้รัฐธรรมนูญและบ้านเมืองปลอดภัย
ส่วนนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวว่า แม้มีกฎอัยการศึกบังคับใช้ แต่คสช.ก็มีสิทธิ์ใช้มาตรา 44 ได้ เพราะเจตนารมณ์และวัตถุประสงค์ของมาตรา 44 เป็นอำนาจพิเศษในการแก้ปัญหาชาติตามแนวทางการปฏิรูปประเทศ สร้างปรองดองของคนในชาติ ทำประเทศให้เป็นประชาธิปไตย ซึ่งมาตรา 44 ไม่ใช่กฎหมายที่แทรกแซงอำนาจนิติบัญญัติ บริหารและตุลาการ
ส่วนกรณีกรมการบินพลเรือนญี่ปุ่น (เจซีเอบี) ไม่อนุมัติให้ไทยเปลี่ยนเส้นทาง เปลี่ยนขนาดเครื่องบิน เปลี่ยนจุดลงปลายทาง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าจะใช้อำนาจตามมาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 เพื่อแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน เช่น ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเร่งรัดแก้กฎหมาย ว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญต่างชาติเข้ามาหรือฝึกอบรมบุคลากรไทยที่จะเข้ามารองรับงานต่าง ๆ และเร่งบรรจุเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบเรื่องการออกใบอนุญาตจาก 12 คน เป็น 30 คน ซึ่งทุกอย่างนั้นมีขั้นตอน แต่ต้องทำให้เร็วที่สุด ซึ่งนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า เรื่องนี้เราพลาด ก็ต้องยอมรับว่าทำผิดกติกา และหาทางแก้ปัญหา
ส่วนพล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รมว.คมนาคม กล่าวว่า นายกฯ ได้สั่งให้ยกระดับเรื่องนี้ขึ้นมาเป็นระดับชาติ และพร้อมสนับสนุนให้ใช้แง่กฎหมาย เพื่อปรับรูปแบบองค์กร บุคลากร งบประมาณ และแก้ไขบทบาทหน้าที่ให้ชัดเจน รวมถึงแก้กฎหมาย ซึ่งหากใช้ขั้นตอนปกติคงใช้เวลาไม่น้อยกว่า 1 ปีแต่มีผลกระทบมากมาย จึงจะพยายามให้แล้วเสร็จภายใน 2-8 เดือน
ทั้งนี้ องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ไอซีเอโอ) มีคำเตือนตั้งแต่ปี 2548 ให้ปรับปรุงการบริหารงานและบุคลากรใหม่ เพราะไม่มีความเป็นสากล และผลการตรวจสอบล่าสุดก็ยังพบว่า ยังไม่มีการปรับปรุงจึงขอให้เร่งดำเนินการ โดยกระทรวงคมนาคมได้สั่งเร่งจัดทำแผนปรับปรุงงานใหม่หมด และส่งแผนให้ไอซีเอโอ เมื่อวันที่ 2 มีนาคมนี้
ด้านนายสมชาย พิพุธวัฒน์ อธิบดีกรมการบินพลเรือน (บพ.) กล่าวว่า หลังจากวันที่ 29 มีนาคมนี้ สายการบินในไทยจะไม่สามารถเพิ่มเที่ยวบิน เปลี่ยนเส้นทางการบิน ปรับขนาดเครื่องบิน และเครื่องบินเช่าเหมาลำ ทำการบินไปยังญี่ปุ่นได้ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเครื่องบินที่จะทำการบินใน 5 สายการบินคือ สายการบินไทย เอเชียแอตแลนติก เจ็ทเอเชีย ไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์ และนกสกู๊ต รวมเที่ยวบินกว่า 183 เที่ยวบิน และยังมีสายการบินที่ได้รับผลกระทบจากการที่ประเทศเกาหลีใต้ สั่งมายังสายการบินของไทยให้ระงับเที่ยวบินเช่าเหมาลำจำนวน 2 สายการบิน ได้แก่ เอเชียแอตแลนติกและนกสกู๊ต ส่วนจีนระงับ 3 สายการบินได้แก่ ไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์ ไทยโอเรียนท์ และสกายวิว ซึ่งทั้งสองประเทศได้แจ้งไปยังสายการบินในไทยโดยตรง แต่ยังไม่แจ้งมายังกรมการบินพลเรือนของไทย ซึ่งหากรวม 3 ประเทศ คือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และ จีน มีเที่ยวบินของไทยที่ได้รับผลกระทบรวมกว่า 300-400 เที่ยวบินและมีผู้โดยสารที่ได้รับผลกระทบทั้งหมด 150,000 คน โดยในวันที่ 3 เมษายนนี้ กรมการบินพลเรือนจะเดินทางไปยังเกาหลีใต้ และจะไปจีนในวันที่ 7 เมษายน จากนั้นจะเดินทางไปยังออสเตรเลียและเยอรมนี เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจถึงมาตรการการแก้ไขปัญหาของไทย และในวันที่ 31 มีนาคมสายการบิน 5 สายการบิน ได้แก่ เจ็ทเอเชีย นกสกู๊ต การบินไทย ไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์ และ เอเชียแอตแลนติก จะเข้าพบเพื่อหารือแก้ไขปัญหาร่วมกันในเวลา 13.00 น. ที่กรมการบินพลเรือน
ด้านสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้เผยแพร่เอกสารผลการประชุม Annual MeetingInternational Coordinating Committee of National HumanRights Institutions (ICC) และSCA (Sub-Committee on Accreditation)ที่นางอมรา พงศาพิชญ์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้เข้าร่วมประชุม ระหว่างวันที่ 11-13 มีนาคมที่ผ่านมา ที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งอาจพิจารณาลดสถานะ กสม.ไทย จากสถานะเอเป็นบีในเดือนตุลาคมนี้ หากประเทศไทยไม่ปรับปรุงแก้ไขรัฐธรรมนูญในเรื่องการสรรหาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่ต้องเป็นไปตามหลักการปารีส โดยจะต้องกำหนดให้ภาคประชาสังคมมีส่วนร่วมในการสรรหาด้วย
เมื่อวานนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) มีมติ 4 ต่อ 1 สั่งพักใบอนุญาตสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมพีช ทีวี (PEACE TV) และสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ทีวี 24 เป็นเวลา 7 วัน หลังนำเสนอเนื้อหายั่วยุ ปลุกปั่น ขัดประกาศ คสช.ฉบับที่ 97 และ 103 ตามที่ คณะกรรมการของ คสช.ส่งข้อมูลให้กสท. พิจารณาสั่งระงับการออกอากาศ
*-*