นายกรัฐมนตรีลิซ ทรัสส์ของอังกฤษ ประกาศลาออกจากตำแหน่งแล้ว หลังรับหน้าที่ได้เพียง 6 สัปดาห์ หรือเพียง 45 วัน ระบุว่าเธอจะทำหน้าที่รักษาการในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไปจนกว่าพรรคอนุรักษ์นิยมจะสรรหาหัวหน้าพรรคคนใหม่มารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ นับเป็นนายกรัฐมนตรีที่อยู่ในตำแหน่งในระยะเวลาที่สั้นที่สุด การลาออกครั้งนี้ ยังเป็นไปตามข้อเรียกร้องของส.ส.พรรคอนุรักษ์นิยม ที่ให้เธอลาออก โดยยื่นคำขาดว่า เธอมีเวลาตัดสินใจเพียง 12 ชั่วโมงเท่านั้น โดยนางทรัสส์ได้แถลงที่หน้าบ้านเลขที่ 10 กราบบังคมทูล กษัตริย์ชาร์ลสที่3 แล้ว นางทรัสส์ยอมรับว่า เธอไม่สามารถผลักดันนโยบายตามที่รณรงค์หาเสียงเลือกตั้งหัวหน้าพรรคอนุรักษ์นิยมในช่วง 3-4 เดือนที่แล้วให้ประสบผลสำเร็จ
นอกจากนั้น เธอยังเข้ารับตำแหน่งในช่วงเวลาที่เกิดความไร้เสถียรภาพอย่างมากในทางเศรษฐกิจและสถานการณ์ระหว่างประเทศ นางทรัสส์ กล่าวว่า รัฐบาลได้ผลักดันนโยบายหลักเรื่องประกันค่าไฟฟ้าและลดค่าประกันสังคม พร้อมทั้งกำหนดนโยบายเรื่องภาษีต่ำ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโต
แต่ด้วย สถานการณ์ปัจจุบัน เธอไม่อาจจะทำหน้าที่ผลักดันนโยบายการบริหารประเทศให้สำเร็จ ตามที่สมาชิกพรรคให้ความไว้วางใจเลือกเธอมาเป็นหัวหน้าพรรค
กระบวนการเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ต้องเริ่มต้นด้วยการเลือกหัวหน้าพรรคอนุรักษ์นิยมคนใหม่ในสัปดาห์หน้า โดย เซอร์ เกรแฮม เบรดี ประธานคณะกรรมการ 1922 ของพรรคอนุรักษ์นิยม ในฐานะประธานจัดการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคคาดว่าจะทราบผลการเลือกตั้งในวันศุกร์หน้า
สำหรับนางทรัสส์ ได้รับเลือกเป็นหัวหน้าคนใหม่ของพรรคอนุรักษ์นิยม พรรครัฐบาลอังกฤษ ส่งผลทำให้ได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่โดยเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2565 ได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ที่พระตำหนักแบลมอรัลในสกอตแลนด์
นางทรัสส์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 45 วัน นับเป็นนายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งด้วยระยะเวลาที่สั้นที่สุดของอังกฤษ รองลงมาคือ อดีตนายกรัฐมนตรีจอร์จ แคนนิง ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 119 วัน ก่อนถึงแก่อสัญกรรมในปีพ.ศ. 2370
ด้านเซอร์ เคียร์ สตาร์เมอร์ หัวหน้าพรรคแรงงาน พรรคแกนนำฝ่ายค้าน นายเอ็ด เดวีย์ หัวหน้าพรรคลิเบอรัล เดโมแครต และพรรคชาติสกอต (SNP)เรียกร้องให้รัฐบาลประกาศยุบสภา เพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่โดยเร็ว โดยนายสตาร์เมอร์ระบุว่า พรรคอนุรักษ์นิยมล้มเหลวในการบริหารประเทศมา 12 ปีแล้ว หมดความชอบธรรมที่จะบริหารประเทศ ระบุว่าประชาชนในอังกฤษควรจะมีโอกาสกำหนดอนาคตของประเทศให้ดีกว่านี้
ส่วนปฏิกิริยาจากนานาชาติ ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครงของฝรั่งเศส กล่าวว่าเป็นเรื่องสำคัญที่อังกฤษจะต้องหาทางสร้างเสถียรภาพทางการเมืองขึ้นมาโดยเร็วเท่าที่จะทำได้ นายมาครง ซึ่งอยู่ระหว่างการเยือนกรุงบรัสเซลส์ เบลเยียมเพื่อร่วมประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มสหภาพยุโรป(อียู)บอกกับนักข่าวว่า กลุ่มอียูต้องการเห็นเสถียรภาพทางการเมืองในอังกฤษ ในฐานะส่วนตัว เขารู้สึกเศร้าที่เห็นเพื่อนผู้นำจากอังกฤษลาออกหลังรับตำแหน่งไม่นาน
#วิกฤตอังกฤษ
#นายกลาออก