*ครม.ศก.ตั้งเป้าลดพท.ปลูกยาง-หนุนปลูกพืชชนิดอื่น เห็นชอบยุทธศาสตร์การเกษตร5ปี*

30 มีนาคม 2558, 15:47น.


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ เป็นประธานในการประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ หลังเสร็จสิ้นการประชุม นายปิติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นชอบยุทธศาสตร์โครงสร้างทางการเกษตร ระยะ 5 ปี ระหว่างปี 2558-2563 วงเงิน 35,000 ล้านบาท โดยกู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร( ธ.ก.ส.) 20,000 ล้านบาท และใช้งบกลางปี2558 วงเงิน 1,800 ล้านบาท เพื่อเน้นช่วยเหลือเกษตรกรเพิ่มผลผลิต เพื่อใช้ในด้านต่างๆ เช่น การแก้ปัญหายางพาราที่ยังประสบปัญหาราคาตกต่ำ โดยตั้งเป้าหมายลดพื้นที่การปลูกยาง1-2ล้านไร่ ต่อปี จากปัจจุบันดำเนินการอยู่ 4 แสนไร่ต่อปี เพื่อส่งเสริมให้ชาวสวนยางปลูกปาล์ม และพืชชนิดอื่น โดยธ.ก.ส. พร้อมปล่อยกู้ การปลูกพืชชนิดอื่น เมื่อลดปริมาณต้นยางจะทำให้ราคาปรับสูงขึ้นอีก 6 ปีข้างหน้า รวมถึงแผนส่งเสริมนำยางพารามาใช้สร้างถนน สนามกีฬาและอุตสาหกรรมอื่น หรือทดลองใช้ในระบบปศุสัตว์ เพื่อนำยางพาราคาไปใช้ด้านอื่นได้ประมาณ 8,000 พันตันต่อปี และยังมีนโยบายให้ตลาดกลางของสำนักงานสงเคราะห์การทำสวนยาง(สกย.) รับซื้อยางแผ่นรมควันในราคานำตลาดจากเกษตรกร แต่ยอมรับว่าไม่สามารถให้ความช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางได้อย่างทั่วถึง ทำให้ได้รับการร้องเรียนจากเกษตรกร เพราะเกษตรกรส่วนใหญ่ไม่ได้ผลิตยางรมควัน โดยสามารถช่วยรับซื้อได้เพียง 2 แสนตันจากทั้งหมด 4 ล้านตัน โดยใช้งบประมาณ10,000 ล้านบาท 



นอกจากนี้ยังเห็นชอบแนวทาง แก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกร ซึ่งเป็นหนี้สมาชิกกองทุนฟื้นฟูเกษตรกรจำนวน 26,742 ราย และองค์กรเกษตรกรอีกจำนวน 1,082 แห่ง มูลหนี้ 4,556 ล้านบาท สำหรับผู้มีปัญหานี้จาก 10 เงื่อนไข ทั้งภัยธรรมชาติ ปัญหาความไม่สงบในภาคใต้ หนี้ค้างชำระเกิน 10 ปี มูลหนี้ต่ำกว่า 1 หมื่นบาท โดยเฉพาะหนี้ต่ำกว่า 5 ล้านบาท กระทรวงการคลังจะอนุมัติตัดหนี้สูญให้ และหากมูลหนี้เกินกว่า 5 ล้านบาท โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องหารือร่วมกันและเสนอครม.พิจารณา และต้องหาแนวทางส่งเสริมรายได้เกษตรกร โดยขณะนี้ ทีดีอาร์ไอกำลังศึกษา เพราะหากเป็นหนี้สะสมในภาคครัวเรือนจะต้องใช้เวลาปลูกพืชและหาอาชีพเสริม 3 ปี จึงชำระหนี้ได้หมด



ที่ประชุมจึงสั่งการให้ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรฯ ขึ้นทะเบียนผู้มีรายได้ทั้งหมดทุกลุ่มทั่วประเทศ เนื่องจากพบว่า เกษตรกรมีรายได้จากอาชีพเสริมอื่นสัดส่วนร้อยละ 40-50 ของรายได้ทางการเกษตร เพื่อเป็นข้อมูลให้กับรัฐบาลในการช่วยเหลือของรัฐบาล ทั้งนี้ที่ประชุมยังเร่งให้ เดินหน้าการจดทะเบียนแรงงานประมงที่ผิดกฏหมาย ตามระเบียบของ ไอยูยู รวมถึงให้เรือประมงทุกลำทำสัญญากับแรงงานประมง แต่ยอมรับว่าไม่ค่อยได้รับความร่วมมือเท่าที่ควร สำหรับเรื่องนี้จะมีการหารือกันอีกครั้งในวันที่2เม.ย.นี้

ข่าวทั้งหมด

X