สิงคโปร์จัดรัฐพิธีศพนายลี กวน ยู นายกรัฐมนตรีคนแรกของประเทศอย่างยิ่งใหญ่ ตั้งแต่การเคลื่อนย้ายโลงศพจากรัฐสภา จนถึงการฌาปนกิจในสุสานส่วนตัวของครอบครัว
ทั้งนี้ นายลี เป็นนายกรัฐมนตรีของสิงคโปร์อยู่นานถึง 31 ปี และเปลี่ยนสิงคโปร์จากเกาะเล็กๆ ให้กลายเป็นประเทศมหาอำนาจทางการเงินของโลก โดยเป็นนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์คนแรกในปี 2502 เมื่ออังกฤษ เจ้าอาณานิคม ยินยอมให้สิงคโปร์เป็นสาธารณรัฐ
ชาวรัสเซียเผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหม่ เนื่องจากค่าเงินรูเบิลอ่อนค่าลงถึงร้อยละ 40 นับตั้งแต่ปีที่แล้วเนื่องจากมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจ และประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ขอให้นักธุรกิจนำเงินกลับเข้ามาลงทุนในประเทศ
ส่วนยานอวกาศโซยุซของรัสเซียเดินทางถึงสถานีอวกาศนานาชาติ (ไอเอสเอส) แล้ว โดยออกเดินทางจากฐานปล่อยของรัสเซียที่คาซัคสถาน โดยนักบนอวกาศมิคาอิล คอร์เนียนโก ชาวรัสเซียและนักบินอวกาศสกอต เคลลี่ ชาวอเมริกันจะอยู่บนไอเอสเอสนาน 342 วัน นานกว่าภารกิจมาตรฐานปกติ 2 เท่า เพื่อวัดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับร่างกายมนุษย์เมื่อต้องอยู่ในสภาวะไร้น้ำหนักเป็นเวลานาน ซึ่งจะนำไปสู่ภารกิจต่อไปบนดาวอังคาร หรือดาวดวงอื่นๆ นอกจากนี้ ยังมีบินอวกาศชาวรัสเซียอีกหนึ่งคนคือ นักบินอวกาศเกนนาดี ปาดัลกา ที่จะทำภารกิจบนไอเอสเอสนาน 6 เดือน
นายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู แห่งอิสราเอล กล่าวประณามกรอบข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน ซึ่งเขาเห็นว่าเป็นข้อตกลงที่เลวร้ายกว่าที่คาดคิดไว้ และอิสราเอลยังคัดค้านการเจรจานิวเคลียร์ระหว่างอิหร่านกับชาติตะวันตก
ส่วนความคืบหน้าการไล่ล่าผู้เกี่ยวข้องกับเหตุก่อการร้าย กราดยิงนักท่องเที่ยวที่พิพิธภัณฑ์บาร์โด กรุงตูนิส ประเทศตูนิเซีย ที่มีผู้เสียชีวิต 21 ราย บาดเจ็บกว่า 40 คน ล่าสุด หนึ่งในหญิงผู้บาดเจ็บเสียชีวิตเพิ่มอีก 1 ราย
ขณะที่เจ้าหน้าที่วิสามัญฆาตกรรมผู้เป็นสมาชิกของกลุ่มหัวรุนแรง 9 คนของกลุ่มอักบา อิบิน นาฟา ที่มีความเกี่ยวโยงกับกองกำลังรัฐอิสลาม หรือไอเอส
นอกจากนี้ ชาวตูนิเซียหลายพันคน พร้อมประธานาธิบดี เบจิ คาอีด เอสเซ็บซี ผู้นำตูนิเซีย ประธานาธิบดีฟรังซัวส์ ออลลองด์ ผู้นำฝรั่งเศส ประธานาธิบดีโบรนิสลาว์ โกโมราว์สกี ผู้นำโปแลนด์ และนายมาห์มูด อับบาส ผู้นำชาวปาเลสไตน์ และผู้แทนจากสเปน อัลจีเรีย อิตาลี และเนเธอร์แลนด์ ร่วมเดินขบวนแสดงพลังต่อต้านการก่อการร้ายกลางกรุงตูนิสด้วย โดยระบุว่า เหตุรุนแรงจะทำให้ตูนิเซียแข็งแกร่งขึ้น
ส่วนการสืบสวนเหตุเครื่องบินแอร์บัส 320 เที่ยวบิน 4ยู 9525 ของสายการบินเจอรมันวิงส์แห่งเยอรมนี ที่ตกลงกลางเทือกเขาแอลป์ ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 24 มีนาคมที่ผ่านมา ยังคงเน้นไปที่ประวัติ และอาการป่วยของนายแอนเดรียส ลูบิตซ์ ผู้ช่วยนักบินวัย 27 ปี ซึ่งต้องสงสัยว่าเจตนาขับเครื่องบินชนภูเขาและทำให้ทุกคนที่อยู่บนเครื่องบินรวม 150 คนเสียชีวิตทั้งหมด
ทั้งนี้ พบว่าเขาเพิ่งรับการรักษาอาการจอประสาทตาลอก ซึ่งอาจทำให้ต้องออกจากอาชีพการเป็นนักบิน จากที่ก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่พบยาต้านโรคซึมเศร้า และจดหมายที่ระบุว่า นายลูบิตซ์ไม่อยู่ในสภาพพร้อมที่จะทำงาน ซึ่งทำให้เจ้าหน้าที่สรุปในเบื้องต้นว่า ปัญหาทางสายตาอาจเป็นผลมาจากความเจ็บป่วยทางจิตใจ หรือที่เรียกกันว่าโรคไซโคโซมาติก
ส่วนเครื่องบินของสายการบินแอร์ แคนาดา เสียหลักลื่นไถลออกจากรันเวย์ หลังลงจอดที่สนามบินนานาชาติฮาลิแฟกซ์ สแตนฟิลด์ ในรัฐโนวาสโกเชียของแคนาดาเมื่อเช้าตรู่วันอาทิตย์ตามเวลาท้องถิ่น ส่งผลให้มีได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย 25 คน ต่อมาทางสายการบินแจ้งว่า เที่ยวบินเอซี 624 ออกเดินทางมาจากนครโตรอนโต โดยสำหรับเที่ยวบินนี้มีผู้โดยสาร 132 คน กับลูกเรือ 5 คน
ส่วนเหตุเครื่องบินตกที่เอกวาดอร์ ทางการประกาศว่า นายเอริก กิลลาวด์ อายุ 62 ปี นักธุรกิจด้านเวชภัณฑ์ชาวสวิตเซอร์แลนด์เสียชีวิตแล้ว โดยเขาวางแผนขับเครื่องบินส่วนตัวท่องเที่ยวรอบโลกภายในเวลา 20 เดือนแต่ประสบเหตุชนภูเขาไฟในจังหวัดโคโตปาซี ประเทศเอกวาดอร์
ที่อินโดนีเซียมีฝนตกหนักและดินถล่มบนเกาะชวาของอินโดนีเซีย ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 6 ศพ และสูญหาย 4 คน โดยจุดที่เกิดดินถล่ม อยู่ที่หมู่บ้านเตกัล ปันจัง ในเขตซูคาบูมิ ทางตะวันตกของเกาะ
ด้านเจ้าหน้าที่สาธารณสุขกัมพูชาเปิดเผยว่า ที่จังหวัดเสียมเรียบ ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ มีประชาชนกว่า 600 คน ส่วนใหญ่เป็นเด็กนักเรียนมีอาการป่วยหลังกินอาหารปนเปื้อนที่โรงเรียนจัดหามาให้ในระหว่างงานต่อต้านแรงงานเด็ก
รัฐบาลญี่ปุ่นเตรียมปฏิรูประบบเวลาการทำงานให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตและมีชีวิตส่วนตัวเพิ่มมากขึ้น ทั้งการใช้เวลาอยู่กับครอบครัวและบุคคลใกล้ชิด หรือประกอบกิจกรรมอื่นเพื่อผ่อนคลายร่างกายและจิตใจจากการทำงาน โดยจะเริ่มปรับเวลาทำงานของหน่วยงานรัฐบาลก่อน โดยให้เริ่มทำงานเร็วขึ้น และเลิกงานได้เร็วขึ้น หรือสามารถยืดหยุ่นเวลาได้
ทั้งนี้องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนาเผยสถิติปี 2556 รายงานว่าชาวญี่ปุ่นทำงานเฉลี่ย 1,735 ชั่วโมงต่อปี มากกว่าชาวเยอรมนีและฝรั่งเศส ซึ่งมีจำนวนชั่วโมงทำงาน 1,388 และ 1,489 ตามลำดับ ขณะที่สถิติชั่วโมงทำงานของชาวอเมริกันอยู่ที่ 1,788 ชั่วโมง แต่หลายฝ่ายเชื่อว่าชาวญี่ปุ่นน่าจะทำงานนานกว่าชาวอเมริกันในความเป็นจริง
*-*