รองโฆษก บชน. ชี้จุดเปลี่ยน มือกราดยิง ก่อนย้ายลงพื้นที่ จ.หนองบัวลำภู

07 ตุลาคม 2565, 18:03น.


          เหตุกราดยิงที่จังหวัดหนองบัวลำภู พล.ต.ต.นิธิธร จินตกานนท์ รองโฆษก บช.น. ยอมรับว่าอดีตตำรวจดังกล่าวเคยสังกัดที่กองบัญชาการตำรวจนครบาลจริง หลังจบจากศูนย์ฝึกอบรมภูธร ภาค 3 บรรจุเข้ารับราชการเป็นตำรวจ ที่ สน.ยานนาวา ในตำแหน่ง ผบ.หมู่ งานปราบปราม ในยศสิบตำรวจตรี ก่อนจะย้ายไปรับตำแหน่ง ผบ.หมู่ งานสืบสวน ในยศ ส.ต.ท. ที่ สน.ลุมพินี ซึ่งการเข้ารับราชการตำรวจได้ตรวจสอบตามขั้นตอนปกติ เช่น มีการตรวจสอบว่าเป็นบุคคลผิดต้องห้ามหรือไม่ ก่อนจะส่งตัวไปฝึก ขณะที่ระหว่างอยู่ที่ในสังกัด บช.น.นั้น มีการพิจารณาเลื่อนขั้น 0.5 หรือ 1 ขั้น ถือว่าไม่ได้มีความโดดเด่น และไม่มีความพร้อมในการใช้อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ สุดท้ายขอย้ายกลับไปตามภูมิลำเนาที่จังหวัดหนองบัวลำภู ส่วนนิสัยใจคอ จากการตรวจสอบตามเอกสาร พบว่าระหว่างทำงานไม่สามารถทำงานกับเพื่อนร่วมงานได้ตามปกติ เป็นคนเก็บตัว ไม่ค่อยพูดคุยกับใคร เป็นคนชอบเล่นอาวุธปืน



           ส่วนประเด็นที่มีการพูดกันว่าเจ้าตัวมีปัญหาเกี่ยวข้องกับยาเสพติดมาตั้งสมัยมัธยม ทางกองบัญชาการตำรวจนครบาลไม่เคยพบประวัติในส่วนนี้ แต่ยอมรับว่าช่วงย้ายไปรับตำแหน่ง ผบ.หมู่ด้านงานสืบสวน สน. ลุมพินีอาจเป็นจุดเปลี่ยน ทำให้เจ้าตัวกลับไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด เพราะงานมีความใกล้ชิดต้องสัมผัสหรือเกี่ยวข้องกับยาเสพติด



          ขณะนี้ พล.ต.ต.นพศิลป์ พูลสวัสดิ์ รอง ผบช.น. ดูแลงานสืบสวน ได้สั่งการให้ตรวจสอบกรณีดังกล่าวแล้ว โดยให้ทุกคนที่ทำงานเกี่ยวกับงานสืบสวน ตรวจสอบตำรวจฝ่ายสืบสวนที่มีลักษณะเกี่ยวข้องกับยาเสพติด และทางกองบัญชาการตำรวจนครบาล ยังได้มีการกำชับให้ทุกกองบังคับการตรวจสอบตำรวจในสังกัดของตนเองที่มีพฤติกรรมเกี่ยวข้องกับยาเสพติดหรือพฤติกรรมที่เข้าข่ายเป็นกลุ่มเสี่ยง หากพบให้ดำเนินการลงโทษตามวินัยทันที



          สำหรับกรณีผู้เสพยาเสพติด พล.ต.อ.ดำรงค์ศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. สั่งการให้ บช.น.ดำเนินการตรวจสอบตามชุมชนนำตัวส่งบำบัดผู้เสพยาเสพติด โดยส่งไปทั้งสิ้น 1,036 ราย จากนั้นต้องทำการติดตามเป็นบุคคลเฝ้าระวังอาจกลับไปเสพยาเสพติดต่อ หรือคลุ้มคลั่งก็เป็นไปได้ ผู้กำกับการในพื้นที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ ส่วนของการปราบปรามอาวุธปืน มีการระดมกวาดล้างอาชญากรรมเป็นช่วงๆ มีการดำเนินการปี 2563 จับกุมได้ 687 ราย ปี 65 จับกุมได้ 930 ราย ซึ่งมีการจับกุมอาวุธเพิ่มมากขึ้น



          ส่วนประเด็นผู้ต้องหารายนี้ออกจากความเป็นตำรวจไปแล้ว แต่ยังคงมีอาวุธปืนได้อย่างไร ในข้อเท็จจริงร้อยละ 90 ตำรวจจะทำเรื่องขอมีอาวุธปืนส่วนตัว ต้องมีการขอการรับรองจากผู้บังคับบัญชา ซึ่งกรณีดังกล่าวอยู่ระหว่างการต้องคดีหรือพ้นสภาพแล้วจะต้องยื่นรายชื่อดังกล่าวระงับห้ามใช้ ห้ามมี แต่ในกรณีนี้ยังไม่สามารถทราบได้ว่าขั้นตอนการดำเนินการเกี่ยวกับอาวุธปืนไปถึงขั้นใดหรือมีการดำเนินการอย่างไร



          ทั้งนี้ ภายในสังกัดมีอดีตตำรวจต้องคดีลักษณะดังกล่าว และถูกให้ออกจากราชการแล้ว 7 ราย ในช่วง 3 ปี ที่ผ่านมา ต่อไปจะต้องดำเนินการตรวจสอบประวัติเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะยาเสพติดจะไม่สามารถขออาวุธส่วนตัวได้ พร้อมสั่งการให้ผู้บังคับบัญชาทุกหน่วยต้องพิจารณาในการออกใบรับรองความประพฤติให้กับลูกน้องตนเพื่อใช้ในการขออาวุธปืน



 



 



#กราดยิงหนองบัวลำภู

ข่าวทั้งหมด

X