อธิบดีกรมสุขภาพจิต ส่งนักจิตวิทยาใกล้ชิดเด็กที่หนองบัวลำภู เน้นรับฟัง สร้างพลังใจ

07 ตุลาคม 2565, 14:42น.


           เหตุรุนแรงสะเทือนใจภายในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) อุทัยสวรรค์ อ.นากลาง จ.หนองบัวลำภู มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก ส่วนมากเป็นเด็กเล็กที่เสียชีวิตและบาดเจ็บ



           พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยกับจส.100 เรื่องการดูแลภาวะจิตใจครอบครัวผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บว่า การทำงานของทีมงานเชิงรุก ลงพื้นที่ล่วงหน้าก่อน และการทำงานจะต้องทำต่อเนื่องอย่างน้อย 3 เดือน เพื่อปรับรูปแบบให้ลงตัวด้วยการตั้งศูนย์ทั้งในและนอกพื้นที่ การลงพื้นที่ตั้งแต่เมื่อคืน(6 ต.ค.65) ได้คุยกันครบทั้ง 37 ครอบครัวแล้ว และจะต้องขยายการพูดคุยให้ครบทุกคนในทุกครอบครัว เพื่อสร้างความเข้าใจและเสนอแนะ ไม่ให้เสียกำลังใจ การลงพื้นที่พบคนที่มีความทุกข์ มีภาวะอธิบายความรู้สึกของตัวเองไม่ได้ บางคนอาจมีความเปราะบางอยู่แล้ว พอมาเจอเหตุการณ์นี้ก็อาจยิ่งทำให้หมดกำลังใจไปมากกว่าเดิม ในแง่ทางจิตวิทยาระหว่างเด็กเล็กกับผู้ใหญ่เอง ตัวเด็กเองอาจไม่ค่อยกังวลโดยตรง แต่คนรอบข้างของเขา อาจทำให้เขาเกิดความตระหนก ส่วนกลุ่มเด็กที่โตขึ้นมา นักจิตวิทยาก็จะเข้าไปดูแลใกล้ชิดเพิ่มขึ้น สิ่งที่ลืมไม่ได้เลย ความเจ็บปวดที่เห็นจากภาพข่าว และสามารถจินตนาการได้ ยังขอวิงวอนอย่าแชร์ภาพสิ่งที่เจ็บปวดผ่านสื่อออกไป เพราะอาจทำให้เกิดบาดแผลทางจิตใจ และอาจเป็นต้นแบบที่ไม่ดีต่อไปของเขาได้



         ความกังวลที่ตามมาจากเหตุการณ์ นอกจากในประเทศไทยแล้ว ยังเกิดความกังวลไปทั่วโลก ทุกคนมีความเครียดได้ แต่เราจะมีการจัดการกับตัวเองอย่างไร ไม่ให้ไปยุ่งกับยาเสพติด เพื่อไม่ให้สร้างปัญหาเพิ่มขึ้นในสังคม สามารถปรึกษาคนใกล้ตัว หรือสายด่วนกรมสุขภาพจิต 1323 ได้ แต่ที่สำคัญคือการดูแลกันและกันระหว่างเพื่อนฝูง หรือคนในครอบครัว รับฟังเขา และส่งต่อหน่วยงานเพื่อช่วยเหลือ เพื่อป้องปรามความรุนแรงให้ได้ เพราะไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นกับใครคนใดคนหนึ่งเท่านั้น การรับฟังใครคนหนึ่ง จะเป็นพลังใจกับตัวเอง ให้ตัวเองภาคภูมิใจ ซึ่งก็ทำให้คนรับฟังและคนที่มีปัญหา ก้าวข้ามปัญหาไปได้พร้อมๆกัน



          เพจกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยข้อมูล เรื่องการดูแลจิตใจกลุ่มเด็กและเยาวชน เมื่อผ่านเหตุการณ์ความรุนแรง



          เด็ก คือ กลุ่มเสี่ยงด้านสุขภาพจิต เพราะ...



(1) เด็กมีความเข้าใจเกี่ยวกับเหตุการณ์รุนแรงน้อย



(2) เด็กรู้สึกว่าตนเองไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้



(3) เด็กไม่มีประสบการณ์ในการรับมือกับสถานการณ์ที่ยากลำบาก



           ผลกระทบที่มีต่อเด็ก



-ปัญหาสุขภาพจิต เช่น ซึมเศร้า วิตกกังวล



-ปัญหาพัฒนาการ เช่น พัฒนาการหยุดชะงัก



-ปัญหาการเรียน เช่น หนีเรียน การเรียนตก



-ปัญหาพฤติกรรม เช่น ก้าวร้าว เก็บตัว



          พ่อแม่จะช่วยให้เด็กรับมือกับผลกระทบจากเหตุการณ์รุนแรงได้อย่างไร



-ให้เด็กได้เล่าและพูดถึงเหตุการณ์ที่เพิ่งผ่านพ้นไป กระตุ้นให้เด็กได้แบ่งปันความคิดและถามคำถามต่างๆ “ถ้าเด็กต้องการเล่า โดยอย่าบังคับ”



-ให้เด็กได้อยู่ใกล้ชิดกับผู้ปกครอง ครู หรือผู้ใหญ่ที่ไว้เนื้อเชื่อใจ เพื่อให้เด็กรู้สึกปลอดภัย สงบ เชื่อมต่อ และรู้สึกมีความหวัง



-ลดการดูสื่อที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์หรือสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น



-เมื่อเด็กพร้อมควรกระตุ้นให้เด็กมีส่วนร่วมในการจัดการผลกระทบบางอย่างที่เกิดขึ้นในสังคม เพื่อให้เด็กมีความรู้สึกว่าตนเองสามารถควบคุมสถานการณ์ได้บ้าง เช่น เป็นอาสาสมัครในการสร้างชุมชนปลอดภัย แต่ควรงดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับสถานที่เกิดเหตุ



          *หากพบความผิดปกติทางความคิด อารมณ์ หรือพฤติกรรมในเด็ก ควรรีบพาไปปรึกษาจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น หรือ โทรสายด่วนสุขภาพจิต 1323          คำแนะนำสำหรับผู้ใหญ่ดูแลเด็กและวัยรุ่นที่มีความเสี่ยงภาวะเครียดหลังเหตุรุนแรง "สำหรับเด็กเล็ก"



-เด็กไม่สามารถสื่อสารอารมณ์ความเครียดไม่สามารถเข้าใจได้เท่าผู้ใหญ่



-เด็กซึมซับ พฤติกรรมเลียนแบบเร็วกว่าผู้ใหญ่หลายเท่า



สัญญาณเตือน



-งอแงง่าย เรียกร้องความสนใจมากกว่าปกติ แยกตัว ไม่อยากไปโรงเรียน



-นอนไม่หลับ หลับไม่ดี ฝันร้าย



-หวาดผวา กลัวการแยกจากผู้ปกครอง



สิ่งที่ควรทำ



-คำนึงเรื่องความปลอดภัยทั้งร่างกายและจิตใจของเด็กเป็นอันดับหนึ่ง



-รีบให้เด็กกลับเข้าสู่การใช้ชีวิตปกติ



-ผู้ใหญ่จัดการอารมณ์ตนเองเป็นต้นแบบ



-มีผู้ใหญ่/ผู้ปกครอง ดูแลใกล้ชิด เป็นที่พึ่งทางจิตใจ โดยเฉพาะคนในครอบครัวที่มีการสูญเสีย



-พาทำกิจกรรมผ่อนคลาย เช่น ปั้นดิน เล่นทราย ศิลปะ ร้องเพลง



สิ่งที่ไม่ควรทำ



-ไม่ถามเด็กให้เล่าถึงเหตุการณ์



-งดเอาเด็กมาออกข่าว เสพข่าว



-ไม่เอาเด็กมาเป็นเครื่องมือการสร้างภาพ กระแสดราม่า





          ทำอย่างไร..การดูแลจิตใจเมื่อทราบข่าวหรือเห็นภาพความรุนแรง



1. หลีกเลี่ยงการรับข่าวที่มากเกินไป : ใช้เวลากับกิจกรรมอื่นๆ เพิ่มขึ้น เพื่อลดอารมณ์ และความเครียดจากการรับข่าวสาร



2. หยุดส่งต่อภาพความรุนแรง : ไม่ส่งภาพเหตุการณ์ หรือ คลิปเหตุการณ์ ความรุนแรง ที่ส่งผลต่ออารมณ์ ความรู้สึก



3. ให้ความสำคัญกับอารมณ์ที่เกิดขึ้น : ทั้งอารมณ์ช็อก เสียใจ โกรธ ทำใจไม่ได้ รู้สึกผิด สงบและยอมรับ



4. แบ่งปันความรู้สึก : พูดคุย ระบายความรู้สึกโดยเน้นความเข้มแข็งของจิตใจ ที่สามารถจัดการความยากลำบากไปได้



5. ถ้ารู้สึกไม่ไหว ขอคำปรึกษา : ผ่านสายด่วนสุขภาพจิต1323 ฟรี ตลอด 24 ชั่วโมง





#เยียวยาจิตใจเด็ก



CR:ข้อมูล-ภาพ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข



อ้างอิง: CDC-Caring for Children in a Disaster

ข่าวทั้งหมด

X