ผลงาน 'ถอดสายพันธุกรรมมนุษย์ยุคโบราณ'คว้ารางวัลโนเบลสาขาการแพทย์

03 ตุลาคม 2565, 18:01น.


          คณะกรรมการรางวัลโนเบลสาขาสรีรศาสตร์หรือการแพทย์ ที่สถาบันแคโรลินสกา กรุงสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน ประกาศมอบรางวัลโนเบลสาขาสรีรศาสตร์ หรือการแพทย์ ประจำปี 2565 แก่ ดร.สวานเต พาโบ (Svante Pääbo) นักพันธุศาสตร์ชาวสวีเดน จากผลงานการค้นพบจีโนม หรือ รหัสพันธุกรรมของโฮมินิน(หรือสายพันธุ์มนุษย์โบราณที่สูญพันธุ์แล้ว)และวิวัฒนาการของมนุษย์



          คณะกรรมการรางวัลโนเบล ระบุว่า ดร.พาโบ ประสบความสำเร็จในการวิจัยในเรื่องที่ดูเหมือนจะเป็นไม่ได้ สามารถถอดรหัสพันธุกรรมของสายพันธุ์มนุษย์ยุคโบราณหรือ นีแอนเดอร์ทาล(neanderthal genome)เป็นครั้งแรก อีกทั้งค้นพบว่า โฮโม เซเปียนส์ หรือสายพันธุ์มนุษย์ปัจจุบัน มีการผสมพันธุ์กับสายพันธุ์ก่อนประวัติศาสตร์หรือ นีแอนเดอร์ทาล(Neanderthal)ด้วย ระบุว่า ดร.พาโบ ค้นพบหลักฐานเรื่องนี้เป็นครั้งแรกในปี 2553



          ทั้งนี้ การวิจัยเรื่องการถอดรหัสพันธุกรรมและวิเคราะห์ดีเอ็นเอ หรือพันธุกรรมของมนุษย์ยุคโบราณจากกระดูกของมนุษย์ยุคนีแอนเดอร์ทาล ทำให้นักวิทยาสตร์รุ่นหลังๆสามารถศึกษาเปรียบเทียบพันธุกรรมระหว่างมนุษย์ยุคโบราณ กับ โฮโม เซเปียนส์ หรือสายพันธุ์มนุษย์ปัจจุบัน งานวิจัยของดร.พาโบ ช่วยปูพื้นฐานไปสู่การศึกษาวิจัยว่า อะไรทำให้มนุษย์มีลักษณะโดดเด่นจากสัตว์อื่นๆ



          สำหรับดร.พาโบ เป็นผู้อำนวยการของสถาบันแมกซ์ แพลงค์ เพื่อมานุษยวิทยาเชิงวิวัฒนาการในเมืองไลพ์ซิช เยอรมนี นับตั้งแต่ปี 2540 จะได้รับเงินรางวัล 10 ล้านโครนาสวีเดน (หรือ 34 ล้านบาท)



#โนเบลสาขาการแพทย์



#นักพันธุศาสตร์สวีเดน

ข่าวทั้งหมด

X