หลังคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เห็นชอบมาตรการโควิด-19 รองรับเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง โดยผู้ป่วยไม่มีอาการหรืออาการน้อย ไม่ต้องแยกกักแต่ให้เข้ม DMHT 5 วันแทน นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กรณี “กักตัว” ใช้กับผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ส่วน “แยกกัก” คือ ผู้ป่วยหรือติดเชื้อแล้วหรือการ Isolation แต่ขณะนี้เราต้องการให้ใกล้เคียงกับปกติ เนื่องจากสถานการณ์โควิดอาการไม่ได้รุนแรง คล้ายโรคหวัด โรคอื่นๆ ซึ่งหากเรารู้ตัวว่าป่วย แต่ไม่ยอมป้องกันตนเอง ก็จะทำให้ผู้อื่นเสี่ยงไปด้วย จึงแนะนำให้มีการปฏิบัติตาม DMHT สำคัญที่สุด คือ สวมใส่หน้ากากอนามัย
ด้านความจำเป็นต้องฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นหรือไม่ นพ.โสภณ กล่าวว่า จากข้อมูลหากเป็นผู้สูงอายุควรได้เข็ม 4 แต่หากวัยหนุ่มสาว ไม่มีโรคประจำตัวควรได้เข็ม 3 เพราะหลักการการฉีดวัคซีน คือ ยังสร้างภูมิคุ้มกันได้สูงหรือไม่ หากไม่ก็ต้องกระตุ้น และมีความเสี่ยงหรือไม่ หากระบาดหนักๆ ภูมิตกนิดก็ต้องรีบฉีด แต่วันนี้ค่อนข้างปลอดภัย ความเสี่ยงก็ลด แต่การฉีด 2 เข็มไม่พอแน่นอน
เช่นเดียวการใช้ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปหรือแอนติบอดีออกฤทธิ์ยาว (LAAB) เนื่องจากมีนักวิชาการออกมาตั้งคำถามว่า อาจไม่เหมาะสมกับการใช้รักษา เพราะราคายังสูง นพ.โสภณ กล่าวว่า วันนี้เรามีในมือก็ควรใช้ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง กลุ่มภูมิคุ้มกันต่ำ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันเรามีของมากพอ ส่วนหนึ่งหมดอายุปลายปีไม่กี่หมื่น แต่ที่เหลือจะหมดอายุ ต.ค. 2566 เรามีสำรองมากพอ
โดยการใช้ LAAB ต้องเสียค่าใช้จ่าย นพ.โสภณ กล่าวว่า ไม่ต้องจ่ายเลย ใครที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงให้มาฉีดรพ.ของรัฐ เพราะจะมีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์กำหนดอยู่ ทั้งนี้ ประเทศไทยเหมือนหลายประเทศที่ขึ้นทะเบียนแบบป้องกัน แต่ตอนนี้มีหลายประเทศเริ่มเห็นผลการใช้มากขึ้น เช่น ญี่ปุ่นขึ้นทะเบียนวันที่ 30 ส.ค.2565 และยุโรปอนุมัติให้ใช้รักษาวันที่ 20 ก.ย.2565 ในผู้ป่วยโควิด 19 ที่เริ่มมีอาการในระยะแรกที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรครุนแรง ส่วนไทยกำลังจะยื่นเอกสารขออนุญาตขึ้นทะเบียนเพื่อใช้รักษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่เพิ่งติดเชื้อในระยะแรกตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์
#โควิด19