ผู้นำสหราชอาณาจักรเยือนสหรัฐฯเพื่อร่วมประชุมยูเอ็น เตรียมแถลงนโยบายบริหารประเทศศุกร์นี้

20 กันยายน 2565, 17:54น.


          การเมืองของสหราชอาณาจักรกลับมาเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจจากสาธารณชนในประเทศอีกครั้ง หลังเสร็จงานพระราชพิธีพระบรมศพของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 โดยนายกรัฐมนตรีลิซ ทรัสส์แห่งสหราชอาณาจักร เริ่มภารกิจแรกในฐานะนายกรัฐมนตรีด้วยการเดินทางไปยังนครนิวยอร์ก สหรัฐฯ เพื่อร่วมประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (UNGA) พร้อมทั้งจะเร่งจัดทำมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ



          นับแต่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 สวรรคตเมื่อวันที่ 8 กันยายน นักการเมืองในสหราชอาณาจักรหยุดพูดคุยประเด็นการเมืองชั่วคราว เนื่องจากอยู่ในช่วงที่พสกนิกรทั่วประเทศร่วมไว้อาลัย เพื่อให้เกียรติต่อการสวรรคตของพระประมุขแห่งสหราชอาณาจักรหลังครองราชย์มา 70 ปี แต่ระยะเวลาที่พักเรื่องการเมืองสร้างความอึดอัดให้กับส.ส.บางคนในพรรคอนุรักษ์นิยม พรรครัฐบาลภายใต้การนำของนางทรัสส์ ที่ชนะการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคหลังรณรงค์หาเสียงชิงเก้าอี้หัวหน้าพรรคราว 2 เดือน ขณะเดียวกัน มีความเสี่ยงที่สหราชอาณาจักรจะเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจและเผชิญกับวิกฤตน้ำมันแพง เงินเฟ้อสูง กระทบการเงินของคนหลายล้านคนโดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย



          ด้านแหล่งข่าวเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหราชอาณาจักร ระบุว่า การพักเรื่องการเมืองในช่วงไว้ทุกข์ทั่วประเทศ ทำให้บรรดารัฐมนตรีของนางทรัสส์มีเวลาทำความคุ้นเคยกับกระทรวงทบวงกรมที่ตนเองเข้ามาบริหาร พร้อมทั้งปรับเปลี่ยนนโยบายให้สอดคล้องกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน  โดยตั้งแต่สัปดาห์นี้ เป็นต้นไป คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ของนางทรัสส์จะเร่งลงมือทำงานแข่งกับเวลา ร่างนโยบายใหม่เพื่อแถลงต่อรัฐสภาในวันศุกร์นี้ รวมถึงนโยบายช่วยเหลือภาคธุรกิจให้ผ่านพ้นวิกฤตน้ำมันแพง



          นอกจากนี้ นอกรอบการประชุม UNGA นางทรัสส์จะประชุมทวิภาคีกับประธานาธิบดีโจ ไบเดนของสหรัฐฯพรุ่งนี้ หลังประชุมอย่างไม่เป็นทางการกับผู้นำหลายคนที่เดินทางไปร่วมงานพระราชพิธีพระบรมศพในกรุงลอนดอน ทั้งสหรัฐฯและสหราชอาณาจักรมีความสัมพันธ์เป็นพิเศษ แต่ระยะหลังๆเริ่มมีปัญหา โดยเฉพาะหลังนางทรัสส์ขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศ เสนอให้รัฐสภาแห่งสหราชอาณาจักรพิจารณาร่างกฎหมายใหม่ ว่าด้วยการแก้ไขข้อตกลงการถอนตัวจากสหภาพยุโรป(เบร็กซิต)ในประเด็นเกี่ยวกับการค้ากับไอร์แลนด์เหนือ (อาณาเขตของสหราชอาณาจักร) ซึ่งสหรัฐฯทักท้วงว่าไม่เห็นด้วย เนื่องจากทั้งกลุ่มอียูและสหราชอาณาจักรลงนามเรื่องนี้ตั้งแต่ปี 2563



 



 



#สหราชอาณาจักร



#ประชุมยูเอ็น



#รอยเตอร์

ข่าวทั้งหมด

X