สำนักข่าวเกียวโดรายงานอ้างกระทรวงกิจการภายในและการสื่อสารของญี่ปุ่นว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของญี่ปุ่นในเดือนสิงหาคม ไม่รวมสินค้าในหมวดอาหารที่ผันแปรง่าย ขยับขึ้นมาที่ร้อยละ 2.8 เพิ่มสูงสุดในรอบเกือบ 8 ปี จากร้อยละ 2.4 ในเดือนกรกฎาคม นับว่าสูงเกินเป้าของธนาคารกลางแห่งญี่ปุ่น(BOJ) คือ ร้อยละ 2 เป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกัน เป็นสัญญาณอีกตัวหนึ่งที่บ่งชี้ว่า การอ่อนค่าของเงินเยนของญี่ปุ่นโดยต่อเนื่อง ทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว กระทบผู้บริโภค ทั้งเพิ่มแรงกดดันให้ BOJ ต้องพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพื่อควบคุมเงินเฟ้อ
ทั้งนี้ ดัชนีชี้วัดเงินเฟ้อหรือ ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานทั่วประเทศ ขยับขึ้นเร็วมากในรอบกว่า 30 ปี โดยยังไม่ต้องพิจารณาผลกระทบจากมาตรการปรับขึ้นภาษีการบริโภคเป็นร้อยละ 10 จากร้อยละ 8 ในปี 2562 โดยปัจจัยหลักๆที่มีผลให้เงินเฟ้อของญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นเช่น ราคาน้ำมัน และราคาอาหารแพงขึ้น หลังรัสเซียบุกยูเครนในเดือนกุมภาพันธ์และการอ่อนค่าของเงินเยนของญี่ปุ่นเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ
ขณะเดียวกัน นักวิเคราะห์บางคน เช่น นายโยชิกิ ชินเกะ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสจากสถาบันวิจัยได-อิชิ ไลฟ์ รีเสิร์ช (Dai-ichi Life Research Institute)คาดว่าเงินเฟ้อของญี่ปุ่นอาจจะแตะร้อยละ 3 ในปีนี้ ซึ่งเป็นปัญหาเร่งด่วนให้ BOJ ต้องเร่งหาทางแก้ไขโดยเร็ว
ที่ผ่านมา เงินเยนอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ สะท้อนถึงนโยบายที่สวนทางกันระหว่าง BOJ กับธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด) ขณะเดียวกัน ธนาคารกลางของประเทศทั้งสองจะประชุมพิจารณาเรื่องนโยบายดอกเบี้ยในสัปดาห์นี้ โดย BOJ ยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับต่ำที่ร้อยละ -0.1 เนื่องจากมีความเห็นว่า การขยับขึ้นของอัตราเงินเฟ้อของญี่ปุ่นในระยะหลังๆมานี้อาจจะเป็นการเพิ่มขึ้นเพียงชั่วคราว เนื่องจากต้นทุนน้ำมันและวัตถุดิบมีราคาแพงขึ้น สวนทางกับธนาคารกลางทั่วโลก ซึ่งทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ เพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อ
#ญี่ปุ่น
#เงินเฟ้อ