ฉีด'ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป LAAB' ช่วยผู้ป่วยวัย 105 ปี หายจากโควิด สธ.เร่งหากลุ่มเสี่ยงเพิ่ม

19 กันยายน 2565, 07:18น.


          การใช้ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปหรือ Long Acting Antibody (LAAB) รักษาผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ร่างกายไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน กลุ่มเสี่ยง 608 เช่น ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่ได้รับการฟอกไต ผู้ปลูกถ่ายอวัยวะหรือไขกระดูกที่ได้รับยากดภูมิ  



          หลังจากที่ไทยนำเข้าภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป หรือ LAAB และฉีดครั้งแรกให้กับผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่ได้รับการฟอกไต ที่สถาบันบำราศนราดูร เมื่อวันที่ 27 ก.ค.65 และส่งไปยังจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.65



           นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึง การใช้ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป หรือ LAAB รักษาผู้ป่วยโควิด-19 อายุ 105 ปี และยังไม่เคยฉีดวัคซีนโควิด-19



-3 ก.ย. 65 ผู้ป่วยมีอาการไข้สูง มีเสมหะ ค่าออกซิเจนในเลือดต่ำ ต่อมามีปอดติดเชื้อแบคทีเรีย ผู้ป่วยรายนี้ได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัสในวันแรก แต่เนื่องจากมีอายุมากเสี่ยงต่อการเสียชีวิต



-4 ก.ย.65 แพทย์พิจารณาให้ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป หรือ LAAB แก่ผู้ป่วย ร่วมกับยาปฏิชีวนะ



-ตั้งแต่วันที่ 10 ก.ย.65 ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นตามลำดับ อาการปอดติดเชื้อน้อยลง ไข้ลง ค่าออกซิเจนในเลือดกลับมาปกติ



-14 ก.ย.65 ผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้



-รวมระยะเวลาที่ใช้รักษาน้อยกว่า 2 สัปดาห์



-การให้ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป หรือ LAAB น่าจะมีผลดีในการรักษาผู้ป่วยสูงอายุ กลุ่มเสี่ยงที่ไม่มีภูมิคุ้มกัน



          *กระทรวงสาธารณสุข ยังเน้นย้ำแนะนำให้ผู้สูงอายุทุกคนเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19โดยเร็วก่อนจะเกิดการติดเชื้อโดยเฉพาะกลุ่ม 608 ผู้ป่วยกลุ่มอื่นๆ และผู้ดูแลใกล้ชิดผู้ป่วย ควรมารับเข็มกระตุ้น เมื่อรับเข็มสุดท้ายแล้วอย่างน้อย 4 เดือนขึ้นไป เพราะภูมิคุ้มกันจะลดลงเมื่อเวลาผ่านไป



         อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง หากติดเชื้ออาจเสี่ยงเกิดอาการป่วยรุนแรงหรือมีโอกาสเสียชีวิตสูง การทำงานของภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป หรือ LAAB จะช่วยเสริมภูมิคุ้มกันในผู้ที่ตอบสนองต่อวัคซีนได้น้อยกว่าคนทั่วไป เมื่อฉีดเข้าไปแล้ว ร่างกายจะสร้างภูมิต้านทานต่อเชื้อโควิด-19 ได้สูงทันที ภายหลังฉีด ทำให้เกิดประโยชน์อย่างมาก ลดความเสี่ยงที่ผู้ป่วยจะเสียชีวิต ซึ่งในต่างประเทศมีการขึ้นทะเบียนใช้ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป หรือ LAAB ในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มเปราะบางที่เสี่ยงต่อการเสียชีวิตด้วย เช่น สหรัฐฯ และ ญี่ปุ่น 



         กระทรวงสาธารณสุข ได้มอบนโยบายให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัด สำรวจจำนวนผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์ ในสถานพยาบาลทุกสังกัด เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายได้รับภูมิคุ้มกันจาก LAAB อย่างทั่วถึง นอกจากนี้ กำลังพิจารณาเพิ่มกลุ่มเป้าหมายที่จำเป็นต้องได้รับการสร้างเสริมภูมิคุ้มกัน เช่น ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการได้รับการรักษาด้วยเคมีบำบัด และฉายแสง, ผู้ป่วยปลูกถ่ายอวัยวะที่ต้องได้รับยากดภูมิขนาดสูง, ผู้ป่วยโรคข้อที่ต้องรักษาด้วยยากดภูมิ และผู้ป่วยภูมิคุ้มกันต่ำโรคอื่นๆ





 



#ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปLAAB



ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติม : https://www.hfocus.org/content/2022/09/25981



CR:ข้อมูล-ภาพ กระทรวงสาธารณสุข

ข่าวทั้งหมด

X