การรับมือพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมในกรุงเทพมหานคร (กทม.) ล่าสุด กทม.เตรียมประกาศให้ 6 แขวง ของเขตลาดกระบังเป็นพื้นที่ภัยพิบัติหรือ พื้นที่ประสบสาธารณภัย ศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร และนายเอกวรัญญู อัมระปาล โฆษก กทม. ร่วมกันแถลงข่าวสถานการณ์น้ำในพื้นที่ และการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ
โดยรองผู้ว่าฯกทม. กล่าวถึงการช่วยเหลือเยียวยา ขณะนี้สำนักงานเขตกำลังทำข้อมูลทั้งหมดเพื่อเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ และการประกาศพื้นที่สาธารณภัยเพิ่มเติม โดยยืนยันว่า การประกาศเป็นพื้นที่สาธารณภัย เพื่อให้เกิดความวิตก แต่เพื่อให้เป็นไปตามข้อบัญญัติของกทม.ในการให้ความช่วยเหลือ ซึ่งเดิม กทม.สามารถเยียวยาตามเกณฑ์ได้ แต่การประสานขอความช่วยเหลือเพิ่มเติมในการประกาศเขตภัยพิบัตินั้น แม้จะได้รับการเยียวยา แต่ต้องไม่ซ้ำประเภทกัน
นายขจิต บอกว่า ตลอดสองสัปดาห์ มีปริมาณฝนตกเกิน 100 ล้านลูกบาศก์เมตร ทั่วทั้ง กทม. ซึ่งสถานการณ์ปัจจุบันต้องแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ กลุ่มเขตหลักสี่ เขตดอนเมือง เขตบางเขน น้ำสูงสุดที่คลองเปรมประชากร 1.56 เมตร ปัจจุบันเหลือ 1 เมตรแล้ว และบางเขนในซอยต่างๆ ลดลงเกือบหมดแล้วเช่นกัน ทั้งนี้คาดว่าถ้าฝนไม่ตกอีก 2-3 วัน จะเข้าสู่สภาวะปกติ
ส่วนที่ 2 คือ เขตลาดกระบัง เขตประเวศ เขตหนองจอก สถานการณ์น้ำลดลงไปประมาณ 50 เซนติเมตร อยู่ในสถานการณ์ที่ดีขึ้น และเมื่อวานนี้ (14 ก.ย.) พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รักษาการนายกรัฐมนตรี และนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. ลงพื้นที่หนองจอก ทำให้เห็นว่าระดับน้ำเริ่มลดระดับ และเมื่อวานนี้ผู้ว่าฯ กทม.ได้ขอให้ กอนช. ทำทางด่วนน้ำ ตัดไปออกแปดริ้วได้เลย ทั้งนี้ ผู้ว่าฯ กทม. ได้ตัดสินใจเปิดประตูน้ำลาดกระบัง และกระทุ่มเสือปลา ทำให้น้ำลดลงอย่างรวดเร็ว คาดว่าไม่เกิน 7 วัน ถ้าฝนไม่ตกเพิ่ม น้ำจะลดลงทั้งหมด ทำให้มองว่าสถานการณ์น้ำในช่วงนี้บริเวณรอบนอกน่าจะดีขึ้น
ปัจจุบันสถานการณ์น้ำเหนือผ่านบางไทรมา ยังอยู่ในระดับที่รับได้ ทำให้ไม่มีอะไรที่น่าเป็นกังวล ซึ่งพื้นที่ฟันหลอริมแม่น้ำเจ้าพระยาทั้ง 17 เขต ได้ให้สำนักงานเขตเตรียมเฝ้าระวังไว้ก่อน
สำหรับพื้นที่ประสบอุทกภัยที่จะประกาศเป็นพื้นที่สาธารณภัย ทั้งหมด 6 พื้นที่ ประกอบด้วย แขวงลาดกระบัง แขวงคลองสองต้นนุ่น แขวงคลองสามประเวศ แขวงขุมทอง แขวงทับยาว และแขวงลำปลาทิว มีประชาชนได้รับความเสียหายจากอุทกภัย 10,300 หลังคาเรือน มีประชากรทั้งหมด 20,767คน รวมถึงพื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหาย 1,322ไร่ แบ่งเป็นนาข้าว 800 ไร่ สวนผักและผลไม้ 22 ไร่ และบ่อปลาอีก 500 ไร่