รมว.คลัง เตรียมชี้แจงวุฒิสภา หลังสภาสส.เห็นชอบแก้กม.กู้เงินกยศ.ไม่คิดดอกเบี้ย-เบี้ยปรับมีผลย้อนหลัง

15 กันยายน 2565, 14:04น.


           หลังที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เห็นชอบแก้กฎหมายกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) โดยไม่เก็บดอกเบี้ย และไม่คิดเบี้ยปรับ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ยังมีขั้นตอนของวุฒิสภาฯ ที่กระทรวงการคลังจะต้องไปชี้แจงตามขั้นตอนทางกฎหมาย ส่วนจะสามารถปรับเปลี่ยนร่างกฎหมายได้หรือไม่ ก็ต้องขึ้นอยู่กับความเห็นของวุฒิสภาฯ



           อย่างไรก็ดี หากกฎหมายฉบับนี้ผ่านทั้งวุฒิสภาฯ ก็คงต้องมีการวางแผนบริหารเงินกองทุน กยศ. ในอนาคต เนื่องจากในร่างกฎหมายใหม่นั้น การบริหารเงินจะแตกต่างจากเดิมที่เคยมีรายรับในด้านดอกเบี้ยและเบี้ยปรับจะหายไปหมด



          ที่ผ่านมา กยศ. ก็บริหารเงินกองทุนโดยไม่ได้ใช้งบประมาณแผ่นดินแล้ว แต่กองทุนใช้วงเงินเดิมที่รัฐบาลให้ และเงินจากที่เยาวชนรุ่นก่อนเรียนจบแล้วมีการชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ย บางส่วนถ้าล่าช้าก็เสียเบี้ยปรับ ทำให้มีเงินหมุนตลอดเวลา  อย่างไรก็ตาม การจะมีดอกเบี้ยหรือไม่มีนั้น ผู้กู้ยืมยังคงต้องมีวินัยการเงิน เพื่อคืนเงินต้น ให้คนรุ่นต่อไป ได้กู้ยืมต่อ



          ส่วนสถานะการเงินของกองทุน ก็ยังไม่เห็นปัญหาส่วนนี้ อย่างไรก็ดี ได้คาดการณ์ว่าหากมีความต้องการสินเชื่อเพื่อการศึกษามากขึ้น แต่รายได้ไม่เข้ามาเพิ่ม เพราะไม่มีดอกเบี้ยและเบี้ยปรับ ก็จะต้องใช้เงินก้อนเดิมที่เป็นเงินต้น มาใช้หมุนเวียน ดังนั้น เงื่อนไขที่สำคัญคือ เงินก้อนนี้ต้องกลับมา หมายความ ผู้กู้ ต้องคืนเงินต้น ไม่เช่นนั้นจะเป็นภาระกองทุนได้



          ด้านนายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง ฐานะประธานคณะกรรมการ กยศ. ยอมรับว่า มีความเป็นห่วงว่าจะไม่มีวินัยในการชำระหนี้ แต่อีกด้านหนึ่งมองว่า เป็นสิ่งที่รัฐบาลจะต้องมองว่า ต้องบริหารจัดการให้หรือไม่ โดยไม่มีข้อขัดแย้งในเรื่องนี้



          นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการ กยศ. กล่าวว่า หากกฎหมายมีผลบังคับใช้ตามที่รัฐสภาเห็นชอบทางคณะกรรมการกองทุนจะต้องพิจารณาถึงผลกระทบต่อสถานะกองทุน และการบริหารจัดการเรื่องการปล่อยกู้ในกับนักเรียนในระยะต่อไป เนื่องจากในแต่ละปีกองทุนจะมีสภาพคล่องที่ได้รับจากการชำระหนี้เงินกู้ ประมาณ 40,000 ล้านบาท ในจำนวนดังกล่าวเป็นอัตราดอกเบี้ยและเบี้ยปรับ ประมาณ  6,000 ล้านบาท และมีค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการกองทุน ประมาณ 2,000 ล้านบาทต่อปี เมื่อไม่มีดอกเบี้ยและเบี้ยปรับ รายรับส่วนนี้ก็จะหายไป



          สำหรับขั้นตอนหลังจากนี้ กยศ.ต้องเตรียมข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อไปชี้แจงต่อวุฒิสภา ซึ่งประเด็นสำคัญ คือ เหตุจำเป็นที่จะต้องมีดอกเบี้ยและเบี้ยปรับ และข้อเท็จจริงของผลกระทบต่างๆ ซึ่งตามกระบวนการกฎหมาย ใช้เวลาพิจารณา 1 เดือน เพราะเป็นกฎหมายด้านการเงิน หากผ่านวุฒิสภาเห็นชอบ ก็รอกระบวนการออกกฎหมายบังคับใช้ ซึ่งมีเวลาอีกระยะหนึ่ง และถ้าวุฒิสภาไม่เห็นชอบ ก็จะต้องมีการตีกฎหมายกลับมา และมีการตั้งกรรมาธิการร่วมสองสภาต่อไป



          จากข้อมูลตั้งแต่ปี 2538 กองทุนใช้เงินงบประมาณสำหรับให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา 3,000 ล้านบาท โดยเป็นเงินทุนหมุนเวียนในอนาคต ซึ่งขณะนี้ดำเนินการมาแล้วกว่า 20 ปี มีเงินหมุนเวียนแล้ว 4 แสนล้านบาท ปล่อยกู้กว่า 6.9 แสนล้านบาท คิดเป็น 6.2 ล้านคน โดยมีผู้ปิดบัญชีการชำระหนี้แล้ว 1.6 ล้านคน เสียชีวิต 6.7 หมื่นคน กำลังศึกษาอยู่ 1 ล้านคน และอยู่ระหว่างการชำระหนี้ 3.5 ล้านคน โดยจากจำนวนดังกล่าวผิดนัดชำระหนี้กว่า 2.5 ล้านคน คิดเป็นเงินต้นกว่า 9 หมื่นล้านบาท โดยปี 2561 เป็นปีสุดท้ายที่ขอใช้งบจากรัฐบาล จากนั้นกองทุนดำเนินการโดยใช้เงินหมุนเวียน ซึ่งการปล่อยสินเชื่อทางการศึกษาในปัจจุบัน กองทุนปล่อยกู้เฉลี่ยปีละ 4 หมื่นล้านบาท และไม่จำกัดจำนวนบุคคลในการปล่อยกู้



 



#หนี้กยศ



#คลังชี้แจงวุฒิสภา 

ข่าวทั้งหมด

X