รอครม.เคาะ! มาตรการลดค่าไฟ-ต่อเวลาลดภาษีน้ำมันดีเซลอีก 2 เดือน

13 กันยายน 2565, 07:36น.


          นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) วันนี้(13 ก.ย.65) คาดว่า ครม.จะพิจารณามาตรการช่วยเหลือค่าเอฟที งวดเดือน ก.ย.-ธ.ค.65 ให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าในกลุ่มเปราะบาง และต่อมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล โดยจะใช้งบกลางปี 65 และงบประมาณปี 66 ดำเนินการ การดูแลผลกระทบจากค่าครองชีพจากราคาพลังงานที่สูงขึ้น รัฐบาลดูแลทั้งเรื่องราคาน้ำมัน ผ่านการอุดหนุนกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงรวม 120,000 ล้านบาท และลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลชั่วคราว โดยในด้านค่าไฟฟ้าได้นำเชื้อเพลิงอื่นๆที่มีต้นทุนถูกกว่าก๊าซธรรมชาติ, แอลเอ็นจี มาผลิตไฟฟ้า เพื่อดูแลค่าเอฟทีให้ขึ้นไม่เกินกรอบที่ประกาศไว้ ซึ่งที่ผ่านมาการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ได้แบกรับภาระไว้รวม 100,000 ล้านบาท การอุดหนุนราคาน้ำมัน และการดูแลค่าไฟฟ้าที่ผ่านมา ทำให้รัฐบาลใช้เงินรวม 200,000 ล้านบาท เพื่อลดผลกระทบประชาชน วิธีการที่จะชนะพลังงานที่ดีที่สุด คือ การประหยัดเท่าที่จะทำได้แม้ราคาพลังงานหรือราคาน้ำมันของไทยสูงขึ้น แต่เมื่อเทียบกับอาเซียน ไทยยังอยู่ในระดับกลางๆ เทียบกับยุโรปค่าไฟฟ้าก็แพงกว่าไทยมาก



         รายงานระบุว่า กระทรวงการคลัง จะเสนอให้ครม.ขยายเวลามาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลออกไปอีก 2 เดือน เพื่อแบ่งเบาภาระค่าครองชีพประชาชน เนื่องจาก มาตรการเดิมจะสิ้นสุดวันที่ 20 ก.ย.65 คาดจะลดภาษีอีกลิตรละ 5 บาท ตั้งแต่ 21 ก.ย.-30 พ.ย.65 ทำให้คลังสูญเสียรายได้จากการจัดเก็บภาษี 20,000 ล้านบาท เมื่อรวมกับ 3 ครั้งที่ผ่านมา จะสูญเสียรายได้มากกว่า 78,000 ล้านบาท



-ครั้งแรกเมื่อวันที่ 18 ก.พ.-20 พ.ค.65 ลดภาษีลิตรละ 3 บาท เป็นเวลา 3 เดือน สูญรายได้ 18,000 ล้านบาท



-ครั้งที่ 2 วันที่ 21 พ.ค.-20 ก.ค.65 ลดภาษีลิตรละ 5 บาท 2 เดือน สูญรายได้ 20,000 ล้านบาท



-ครั้งที่ 3 วันที่ 21 ก.ค.-20 ก.ย.65 ลดภาษีลิตรละ 5 บาท 2 เดือน สูญรายได้ 20,000 ล้านบาท ซึ่งการลดภาษีดีเซลทุก 1 บาท จะสูญเสียรายได้เดือนละ 2,000 ล้านบาท



          นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า จากนี้ไปประชาชนคงไม่ได้เห็นค่าไฟฟ้าต่ำกว่า 4 บาทต่อหน่วยอีกแล้ว เพราะราคาเชื้อเพลิงทุกชนิดเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จากเดิมไทยพึ่งพาก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยที่มีราคาต่ำ ในสัดส่วนสูง แต่ปัจจุบันปริมาณการผลิตลดลง ส่งผลให้ต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติ ก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) ราคาแพงมากขึ้น อีกทั้งสงครามรัสเซียและยูเครนทำให้ราคาแอลเอ็นจีปรับตัวสูงขึ้นมาก โดยเฉพาะในตลาดจร (Spot LNG) ซึ่งราคาแอลเอ็นจีคิดเป็นต้นทุนการผลิตไฟฟ้า 10 บาทต่อหน่วย ขณะที่ก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย 2-3 บาทต่อหน่วย และน้ำมัน 6 บาทต่อหน่วย



         ปัจจุบันค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) เดือน ก.ย.-ธ.ค.65 ได้ปรับขึ้น 68.66 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้าที่เรียกเก็บจากประชาชนรวมเฉลี่ยอยู่ที่ 4.72 บาทต่อหน่วย เพราะสถานการณ์ราคาพลังงานโลก ยังคงผันผวน และมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่อง แต่จะมากน้อยเพียงใดอยู่ที่ปริมาณก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย ว่าจะผลิตได้มากน้อยเพียงใด 



 



#ลดค่าไฟ



#ลดภาษีน้ำมันดีเซล



แฟ้มภาพ 



 



 

ข่าวทั้งหมด

X