สถาบันป๋วยฯ เปิดผลวิจัย ปัญหาเงินเฟ้อไทยแม้ผันผวน แต่จะคลี่คลายได้

10 กันยายน 2565, 10:05น.


          สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ รายงานผลวิจัยเงินเฟ้อไทย ระยะ 20 ปีที่ผ่านมา มีผลกระทบส่วนใหญ่มาจาก "ปัจจัยเฉพาะ" โดยราคาสินค้ามีผลร้อยละ 85  แม้ว่าจะมีความผันผวน แต่สถานการณ์จะคลี่คลายได้



          ดร.นุวัต หนูขวัญ หัวหน้ากลุ่มงานวิจัย สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ เปิดเผยว่า ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อเงินเฟ้อไทย แบ่งออกเป็น 2 ปัจจัย คือ ปัจจัยด้านมหภาค เช่น วัฏจักรเศรษฐกิจ หรือนโยบายการเงินที่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง และปัจจัยเฉพาะของราคาสินค้าและบริการ เช่น ต้นปีราคาเนื้อหมูเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 จากปีก่อน เพราะเกิดโรคระบาด หรือปัญหาสิ่งแวดล้อมที่มีผลต่อราคาผักและผลไม้ และภาษีบุหรี่ การปรับขึ้นค่าไฟฟ้า เป็นต้น



          ในระยะ 20 ปีที่ผ่านมา  ปัญหาเงินเฟ้อที่มาจากปัจจัยมหภาคมีสัดส่วนค่อนข้างน้อย คือประมาณร้อยละ 15 นับตั้งแต่ปี 2554 เนื่องจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประกาศใช้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่น ส่วนเงินเฟ้อมาจากปัจจัยเฉพาะมีสัดส่วนราวร้อยละ 85 เช่น ราคาเนื้อหมู และราคาพลังงานที่เกิดจากสงคราม ทำให้ราคาสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น



          จากการศึกษาปัจจัยเฉพาะต่อเงินเฟ้อพื้นฐานในระยะ 1 ปี เช่น เนื้อหมู จะพบว่ามีผลน้อยมากหรือไม่มีเลย สะท้อนว่าจะไม่กระทบเป็นวงกว้าง ทำให้เงินเฟ้อจะไม่ยืดเยื้อหรือคงในระดับสูงนาน ส่วนปัจจัยเฉพาะจะสะท้อนไปยังหมวดอื่น ๆ ต่อมีเพียงร้อยละ 3 ส่วนใหญ่คือ พลังงาน



          สรุปงานวิจัย สิ่งที่พบ คือ ปัจจัยร่วมหรือมหภาคมีบทบาทน้อยลงในการขับเคลื่อนเงินเฟ้อไทย แต่ปัจจัยเฉพาะมีบทบาท กระทบต่อเงินเฟ้อมากยิ่งขึ้น ปัจจัยที่มาจากราคาน้ำมัน ราคาเนื้อสัตว์ต่างเพิ่มขึ้น มีการส่งผ่านไปสู่หมวดอื่น ๆ หรือไม่ ซึ่งพบว่า การส่งผ่านจำกัด แม้เกิดปัจจัยเฉพาะเกิดขึ้น แต่กระทบต่อสินค้าบางรายการเท่านั้น เช่น ตัวเลขเงินเฟ้อเดือนสิงหาคมล่าสุดที่ร้อยละ 7.86 พบว่า สินค้าบางรายการก็ปรับสูงกว่า บางรายการก็น้อยกว่า บางรายการคงที่หรือไม่ขยับเลย แต่ไม่ได้มีผลกระจายตัวเป็นวงกว้าง และเงินเฟ้อไทยส่วนใหญ่ มองว่าจะคลี่คลายได้และไม่ต่อเนื่อง



          ทั้งนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย พยายามทำให้เงินเฟ้ออยู่ในกรอบ โดยคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ขึ้นดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไป ทำให้เริ่มเห็นดีมานด์ที่เพิ่มขึ้น และนักท่องเที่ยวเริ่มกลับมา ซึ่งจะมีการใช้จ่ายมากขึ้น จึงมองว่านโยบายการเงินที่เหมาะสมกับการจัดการเงินเฟ้อที่เกิดจากปัจจัยเฉพาะ จะนำไปสู่การออกนโยบายภาครัฐมาจัดการเฉพาะจุด และควรยกเลิกโครงการในเวลาที่เหมาะสม เพราะมีต้นทุนสูง เช่น กองทุนน้ำมันฯ



...



#เศรษฐกิจไทย



#สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วยอึ๊งภากรณ์



https://www.pier.or.th/abridged/2022/11/

ข่าวทั้งหมด

X