นักวิทยาศาสตร์ จากหลายสถาบันร่วมหาสาเหตุของลองโควิด และการรักษา

08 กันยายน 2565, 14:14น.


          กลุ่มนักวิทยาศาสตร์จากหลายสถาบันเข้าร่วมในโครงการวิจัยลองโควิด (Long Covid Research Initiative) เพื่อหาสาเหตุที่ทำให้ผู้ที่หายป่วยจากโรคโควิด-19 แล้วยังมีอาการที่เรียกว่าลองโควิด และความเป็นไปได้ที่เชื้อไวรัสโคโรนาจะยังอยู่ในเนื้อเยื่อของบุคคล ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อปรับปรุงการวิจัย การทดลองทางคลินิกด้านการรักษาที่เป็นไปได้อย่างรวดเร็ว ด้วยการแบ่งปันชุดทักษะและทรัพยากรที่หลากหลาย



          อาการลองโควิดที่ยังคงอยู่เป็นเวลานานหลายเดือนแม้ว่าจะตรวจไม่พบเชื้อโรคแล้ว กลายเป็นภาวะทุพพลภาพที่ซับซ้อน ผู้ป่วยจำนวนมากไม่สามารถทำงานได้เหมือนกับก่อนที่จะติดเชื้อ เฉพาะในสหรัฐฯ ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค หรือซีดีซี รายงานว่ามีผู้ใหญ่ที่หายป่วยจากโควิดแล้ว 1 ใน 5 คนที่มีอาการของลองโควิด และทั่วโลกมีผู้ป่วยลองโควิดมากกว่า 150 ล้านคน



          โครงการนี้มี ดร.เอมี่ โปอัล จากมูลนิธิเพื่อการวิจัยโปลีไบโอ (PolyBio Research Foundation) ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคเรื้อรังที่เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อ เป็นหัวหน้าคณะนักวิทยาศาสตร์ของโครงการ ประกอบด้วย นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด, มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด, มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานฟรานซิสโก, มหาวิทยาลัยเยล และสถาบันเจ เครก เวนเตอร์ (J Craig Venter Institute) ซึ่งดร.โปอัล เปิดเผยว่าสิ่งแรกที่ต้องทำความเข้าใจในลองโควิด คือ และนักวิทยาศาสตร์มีข้อสันนิษฐานในเบื้องต้น ว่าอาจยังมีไวรัสอยู่ในเนื้อเยื่อที่กระตุ้นการตอบสนองระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้ผู้ที่หายป่วยแล้วยังมีอาการที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19



          และหากการคงอยู่ของไวรัสได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นสาเหตุของลองโควิด ก็จะมีการทดลองทางคลินิกด้วยยาต้านไวรัส เช่น ยาแพ็กซ์โลวิด ของไฟเซอร์ รวมถึงยาอื่นๆ ที่ปรับระบบภูมิคุ้มกัน ซึ่งดร.โปรอัล ย้ำว่า ยาต้านไวรัส คือ เป้าหมายหลักในการทดลองทางคลินิก เนื่องจากมีผลการวิจัยที่ระบุว่า ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยแพ็กซ์โลวิด จำนวนหนึ่งมีอาการดีขึ้น แต่นักวิจัยต้องการขยายผลการทดลองทางคลินิกในส่วนนี้ เพื่อพิสูจน์ยืนยัน ซึ่งจะนำไปสู่การตัดสินใจว่าควรใช้ยากับผู้ป่วยรายใด





#ลองโควิด

ข่าวทั้งหมด

X