การเตรียมความพร้อมการบริหารจัดการวัคซีนปี 2566 นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างศึกษาและพิจารณาเรื่องนี้ ซึ่งจะมีการประชุมคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติในเดือนตุลาคมนี้ โดยการพิจารณาจัดสรรวัคซีนโควิดเป็นการพิจารณาผ่านคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญ โดยคำนึงถึงความปลอดภัย ประสิทธิผล และความคุ้มค่าที่เกิดขึ้น ส่วนที่มีข่าวออกมาก็มีวัคซีนจากไฟเซอร์ที่มีการพัฒนารุ่นใหม่เป็นสายพันธุ์โอไมครอน BA.4 และ BA.5 แต่คณะกรรมการฯ จะต้องพิจารณาหลากหลายยี่ห้อ และผลการศึกษา จึงยังไม่สามารถสรุปได้ตอนนี้ว่าจะเป็นตัวไหน
สำหรับแนวโน้มการสั่งซื้อวัคซีนปี 2566 จะเป็นรุ่นใหม่ทั้งหมดหรือไม่ นพ.โสภณ กล่าวว่า โดยหลักการหากมีการสั่งซื้อกับบริษัทที่มีการผลิตวัคซีนรุ่นใหม่ๆ ก็จะได้รุ่นใหม่ทั้งหมด เนื่องจากล็อตการผลิตของบริษัทนั้นๆ จะปรับเปลี่ยนผลิตรองรับวัคซีน Gen ใหม่เช่นกัน แต่ทั้งนี้ขอให้รอการพิจารณาของคณะกรรมการวัคซีนฯ ก่อนว่าจะเป็นอย่างไร
ด้านวัคซีนป้องกันโควิดโดยคนไทยผลิต นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวว่า ขณะนี้ส่วนใหญ่อยู่ในการศึกษาเฟส 2 เช่นขององค์การเภสัชกรรม ที่พัฒนาวัคซีนโควิด HXP-GPOVac ได้ทดลองในมนุษย์ เฟส 2 ช่วงเดือนสิงหาคมหากผลการศึกษาออกมาผ่านทั้งหมดก็สามารถขึ้นทะเบียนพร้อมใช้ได้ในช่วงปี 2566 รวมถึงวัคซีนไทยผลิตรายอื่นๆ ได้แก่ ChulaCov19 และวัคซีนใบยา หากผลการศึกษาผ่านทั้งหมดก็จะขึ้นทะเบียนและพร้อมใช้เวลาไล่เลี่ยกัน คือ น่าจะช่วงปลายปี 2566
ส่วนการพัฒนาวัคซีนโควิดของคนไทยมองว่าช้าไปหรือไม่ นพ.นคร กล่าวว่า ต้องอยู่ที่ว่าเปรียบเทียบกับประเทศใด ซึ่งหากเป็นประเทศที่มีการวิจัยพัฒนาวัคซีนโควิดอย่างสหรัฐ ยุโรป จีน อินเดีย อังกฤษ ก็ถือว่าเราเร็วมากเมื่อเทียบกับสถานการณ์ปกติ ที่สำคัญที่อยากฝากคือ ขณะนี้ในกลุ่มที่ยังไม่ได้ฉีดบูสเตอร์ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง 608 ขอให้มาฉีด อย่าไปรอวัคซีนรุ่นใหม่ เนื่องจากตั้งปีหน้า ซึ่งจะเสี่ยงติดก่อน ยิ่งกลุ่มสูงอายุ ควรฉีดวัคซีนเพื่อลดอาการรุนแรงและเสียชีวิตได้
#โควิด19