เปิดผลตรวจภูมิคุ้มกันคนไทยเคยปลูกฝีดาษกว่า 40 ปีที่ผ่านมา มีภูมิฯต่อฝีดาษวานรหรือไม่ นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงข่าว "ภูมิคุ้มกันต่อเชื้อฝีดาษวานร หรือฝีดาษลิง(Monkeypox)" ว่า หลังจากมีเคสฝีดาษวานรในประเทศไทย กรมฯได้นำเชื้อมาเพาะทั้ง 2 สายพันธุ์ โดย 7 รายมีทั้ง B.1 และ A.2 โดยส่วนใหญ่ A.2 ซึ่ง B.1 มีเพียง 1 ราย ทั้งสองสายพันธุ์เพาะขึ้นทั้งหมด
ด้านการตรวจภูมิคุ้มกันในคนที่ได้รับวัคซีนฝีดาษในอดีตเมื่อ 40 ปีก่อน ได้หาอาสาสมัครมาดำเนินการแบ่งตามกลุ่มอายุ โดยแต่ละกลุ่มมี 10 คนในการศึกษา ตรวจทั้งสองสายพันธุ์ คือ B.1 และ A.2 โดยแบ่งเป็นอายุ 45-54 ปี อายุ 55-64 ปี อายุ 65-74 ปี อย่างไรก็ตาม ข้อมูล คือ ต้องมีระดับไตเตอร์(titer) มากกว่า 32 จึงถือว่ามีภูมิคุ้มกันที่สามารถลบล้างฤทธิ์ไวรัสฝีดาษวานรได้ ดังนั้น หากต่ำกว่า 32 แม้มีภูมิฯ แต่ไม่สูงพอจัดการได้
ผลตรวจพบว่า อายุ 45-54 ปี ส่วนใหญ่ไม่มีภูมิฯขึ้นถึง 32 คน ขณะที่อายุ 55-64 ปี ภูมิคุ้มกันไม่แตกต่างมาก มีเพียง 2 คนที่มีภูมิฯต่อ A.2 คือ 35 กับ 39 ซึ่งป้องกันได้ แต่ปริ่มๆ ส่วนอายุ 65-74 ปี ไม่มีใครถึงระดับ 32 เช่นกัน
นอกจากนี้ยังตรวจคนที่ติดเชื้อ เพราะเหมือนได้รับวัคซีนธรรมชาติ พบว่า ในกลุ่มนี้เป็นสายพันธุ์ A.2 โดยสายพันธุ์ B.1 เราไม่ได้นำมาวิเคราะห์โดยตรง ซึ่งพบว่า กลุ่มนี้มีภูมิฯต่อ A.2 สูงมาก และเมื่อมาเทสกับ B.1 ป้องกันได้จำนวนหนึ่ง นี่คือหลักการธรรมชาติ แต่ไม่ได้ต้องการให้ไปติดเชื้อจะได้มีภูมิฯ ส่วนคนที่ไม่ได้รับวัคซีน เป็นเด็กรุ่นหลัง เรามาตรวจ 3 ราย พบว่า ไม่มีภูมิคุ้มกันใดๆ ทั้งสิ้น ภูมิฯขึ้นต่ำกว่า 4
ส่วนการใช้วัคซีนนั้น จะป้องกันได้ประมาณ 3-5 ปี กรณีฝีดาษ จากนั้นจะค่อยๆลดลง ซึ่งคนปลูกฝีไม่ได้ถูกกระตุ้น เพราะฉีดครั้งเดียว อย่างไรก็ตาม การนำวัคซีนมาป้องกันโรคนั้น ยังมีประเด็นว่า กรณีเพิ่งติดเชื้อ 2-3 วันสามารถให้วัคซีนฝีดาษได้เพื่อป้องกันความรุนแรงได้ ดังนั้น หากมีวัคซีนเข้ามาไทยก็จะใช้ 2 กรณี คือ กลุ่มเสี่ยงมากๆ เช่น เจ้าหน้าที่แลป คนสัมผัสใกล้ชิด แต่ในคนทั่วไปที่มีประวัติเสี่ยง ไปสัมผัสโรคก็อาจฉีดให้เพื่อลดความรุนแรง
ปัจจุบันวัคซีนฝีดาษวานรโดยตรงยังไม่มีใครทำ แต่วัคซีนที่นำมาใช้คือ วัคซีนฝีดาษคน แต่ฉีดแล้วข้ามกันฝีดาษวานรได้ เพราะเป็นตระกูลใกล้เคียงกัน ได้ผลประมาณ 85% ซึ่งถือว่าเพียงพอ และวัคซีนปลูกฝีก็ไม่มีแล้ว เพราะมีความเสี่ยงพอสมควร ขณะนี้จึงมีวัคซีนรุ่น 3 โดยขณะนี้สหรัฐและยุโรป อนุมัติให้ใช้ได้ วิธีฉีดมี 2 แบบ คือ ฉีดเข้าชั้นผิวหนัง แทงให้เป็นตุ่มเหมือนเป็นถั่วเขียว อันนี้ใช้วัคซีนแค่ 0.1 มิลลิลิตร ส่วนอีกวิธีฉีดเข้าชั้นใต้ผิวหนัง ทะลุหนังลงไปอยู่ในชั้นไขมันใช้วัคซีนครึ่งซีซี โดยประเทศไทยซื้อมา โดยกรมควบคุมโรคดำเนินงาน มีประมาณ 1 พันโดส ฉีด 2 ครั้ง ฉีดได้ 500 คน โดยจะฉีดใครอยู่ที่คณะกรรมการวิชาการตั้งหลักเกณฑ์
นอกจากนั้น กรมฯ ยังได้หารือกับสถาบันวัคซีนแห่งชาติและมหาวิทยาลัยบางแห่ง ได้ประสานขอเชื้อ เพื่อทำการวิจัยพัฒนาวัคซีนฝีดาษวานรโดยตรง ซึ่งกรมฯสนับสนุน เพราะหากทำได้ก็เป็นผลงานของไทยเอง ซึ่งอยู่ระหว่างพิจารณา แต่ง่ายที่สุดน่าจะพัฒนาจากวัคซีนฝีดาษลิงชนิดเชื้อตาย ซึ่งน่าจะทำง่ายและเป็นแพลตฟอร์มคุ้นชิน
ด้านดร.สุภาพร ภูมิอมร ผู้อำนวยการสถาบันชีววัตถุ ย้ำว่า โรคนี้ไม่ได้ติดต่อง่าย เพียงแต่ใช้มาตรการ Universal prevention ป้องกันได้
สำหรับ ฝีดาษวานร เกิดตั้งแต่ปี 1958 เกิดในลิง และจากนั้นในปี 1970 หรือพ.ศ.2513 ข้ามมาติดในคน จากประเทศคองโก และเริ่มแพร่ระบาดในบริเวณแถบแอฟริกากลางและตะวันตก แต่ในปี 2020 หรือ พ.ศ.2563 พบมากขึ้นเรื่อยๆ กว่า 4,594 คน เสียชีวิต 171 ราย ทำให้เมื่อเดือนกรกฎาคม 2565 องค์การอนามัยโลกได้ประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ ซึ่งตัวเลขผู้ป่วยสะสม 50,327 คน เสียชีวิต 15 ราย พบใน 100 ประเทศ
#ฝีดาษวานร