ดีแทค ผนึก ก.ดิจิทัล แนะ 3 แนวทางกระตุ้นท่องเที่ยวไทย กลุ่มเมืองรองแฝงเมืองหลัก หลังโควิด

05 กันยายน 2565, 14:00น.


          โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย หลายประเทศ ปลดล็อกมาตรการต่างๆ ทำให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค พร้อมด้วย คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สดช. และ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกันพัฒนาศักยภาพการท่องเที่ยวจังหวัดเมืองรองจาก Mobility Data ผ่านการวิจัย





         นายชารัด เมห์โรทรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารดีแทค กล่าวว่า Mobility Data คือ ชุดข้อมูลการเดินทางเคลื่อนที่ของประชากร วิเคราะห์จากข้อมูลเชิงพฤติกรรม ทำให้เราเห็นถึงรูปแบบการเดินทางของนักท่องเที่ยวจากจุดไหนไปยังจุดไหน ใช้ระยะเวลานานแค่ไหน พักนานแค่ไหน โดยการเคลื่อนที่เคลื่อนย้ายจากอีกจุดไปยังอีกจุด ทำให้เกิดรายได้



         ทุกวันนี้มือถือกลายเป็นแหล่งศึกษาข้อมูลของประชาชน หลายภาคส่วนจึงเห็นความสำคัญของการใช้  Mobility Data สร้างคุณค่าและความแตกต่างให้กับอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ที่นำมาสร้างมูลค่าทางสังคมและรับมือกับความท้าทายทางเศรษฐกิจ ภายใต้เงื่อนไข เราต้องนำ  Mobility Data  มาใช้อย่างมีความรับผิดชอบ ภายใต้หลักจริยธรรมและการปกป้องความเป็นส่วนตัวอย่างเคร่งครัด





         ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้นำข้อมูลชุดนี้ ติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของไข้เลือดออก ไข้มาลาเรีย,วิเคราะห์เส้นทางอพยพผู้คนในบังคลาเทศที่ประสบภัยทางธรรมชาติหลายครั้ง ส่วนในประเทศ ได้นำข้อมูลมาวิเคราะห์การเดินทาง นักท่องเที่ยวช่วงแพร่ระบาดโควิดเช่นกัน ทำให้สามารถนำข้อมูลไปวิเคราะห์ออกแบบนโยบายฟื้นฟูและยกระดับการท่องเที่ยวไทยได้ รวมถึงประเมินสถานการณ์การกระจุกตัวของผู้คนได้อย่างรวดเร็ว แม่นยำ และสามารถวิเคราะห์ความเปลี่ยนแปลงในเชิงพื้นที่ได้หลากหลายระดับ





         ด้าน ผศ.ดร.ณัฐพงศ์ พันธ์น้อย อาจารย์ประจำภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า แม้ว่าการท่องเที่ยวจะเป็นอุตสาหกรรมที่ทำรายได้ให้กับประเทศเป็นจำนวนมาก แต่ที่ผ่านมาผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจจากการท่องเที่ยวกระจุกตัวอยู่เพียงในบางจังหวัดที่เป็นเมืองท่องเที่ยวหลัก และขณะนี้ความต้องการเดินทางท่องเที่ยวทั้งภายในประเทศและต่างประเทศกำลังเพิ่มขึ้น มองว่า ควรกระจายนักท่องเที่ยวและผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจไปสู่จังหวัดที่เป็นเมืองรองด้วย เพื่อกระจายรายได้ไปสู่ท้องถิ่นและชุมชนได้มากยิ่งขึ้น



         จากการวิจัยโดยใช้ข้อมูลการเคลื่อนที่ หรือ Mobility data ระหว่างเดือนมิถุนายน 2563 ถึงตุลาคม 2564 พบว่า ผู้เดินทางในภาพรวม เป็นเพศชายราว 40% เพศหญิงราว 35% และไม่ได้ระบุเพศ 25% ส่วนใหญ่มีถิ่นพำนักในกรุงเทพฯ ถึง 54% ส่วนใหญ่อายุระหว่าง 21 - 40 ปี  47% อายุ 41 - 60 ปี 35% อายุ60 ปีขึ้นไป 14% โดยในช่วงการระบาดโควิด-19 พบว่า เดินทางแบบพักค้างถึง 67% และการเดินทางแบบเช้าไปเย็นกลับ 33%





         การนำ  Moblility Data มาวิเคราะห์ การเดินทางของนักท่องเที่ยวในประเทศไทย สามารถสรุปพฤติกรรมได้ 3 แนวทาง



1. การส่งเสริมดึงดูดนักท่องเที่ยวที่เดินทางแบบเช้าไปเย็นกลับในระยะการเดินทางประมาณ 150 กิโลเมตร หรือใช้เวลาเดินทางราว 1-2 ชั่วโมง เพื่อมาร่วมกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงการเรียนรู้ รวมถึงบริโภคสินค้าและบริการของท้องถิ่น ซึ่งมีแนวโน้มเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวทั้งในกลุ่มครอบครัว กลุ่มวัยทำงาน และกลุ่มวัยเกษียณอายุ โดยผลักดันให้เกษตรกรและผู้ผลิตรายย่อยร่วมกันพัฒนากิจกรรมที่มีส่วนร่วมในกระบวนการผลิตด้วย เช่น เวิร์คชอปเรียนรู้การทำหัตถกรรมพื้นบ้าน การเที่ยวชมชุมชนเกษตรกรรมร่วมกับไกด์ท้องถิ่น การทดลองทำอาหารพื้นถิ่น การร่วมเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตร เป็นต้น โดยมีจังหวัดเมืองรองที่นักท่องเที่ยวเดินทางแบบเช้าไปเย็นกลับ จำนวน 16 จังหวัด ประกอบด้วยจังหวัดนครศรีธรรมราช เชียงราย นครพนม ลำพูน นครนายก ระนอง เพชรบูรณ์ อุบลราชธานี แม่ฮ่องสอน พัทลุง ราชบุรี นครสวรรค์ บุรีรัมย์ มหาสารคาม สุพรรณบุรี และชุมพร



2. การพัฒนาการท่องเที่ยวแบบค้างคืนเพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ เป็นกลไกสำคัญในการเพิ่มมูลค่าการใช้จ่ายและเวลาพักของนักท่องเที่ยว เปิดโอกาสให้ชุมชนท้องถิ่นสามารถนำเสนอคุณค่าในด้านต่างๆและมีส่วนร่วมกัน เช่น การเข้าร่วมเทศกาล การร่วมกิจกรรมบูรณะอาคารที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ การร่วมปลูกป่าและดูแลชุมชน โดยพบว่ามี จังหวัดเมืองรองที่มีศักยภาพสูงในการส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบค้างคืน 21 จังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช เพชรบูรณ์ เชียงราย อุบลราชธานี พิษณุโลก ชุมพร จันทบุรี ศรีสะเกษ บุรีรัมย์ เลย ตราด น่าน นครสวรรค์ อุดรธานี ลำปาง ร้อยเอ็ด สุรินทร์ มหาสารคาม สตูล ตรัง ชัยภูมิ



3.การส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบกลุ่มจังหวัด เพิ่มทางเลือกและเส้นทางในการเดินทางท่องเที่ยวภายใน 1 ทริป เช่นการจัดโปรโมชั่นสวนลดที่พักและร้านอาหารในกลุ่มจังหวัด การพัฒนากิจกรรมเพื่อสะสมแต้มผ่านสกุลเงินดิจิทัล ที่สามารถใช้ในแต่ละกลุ่มจังหวัด เป็นต้น สามารถแบ่งประเภทของคลัสเตอร์ของการท่องเที่ยวที่จังหวัดเมืองรองเป็นสมาชิกได้เป็น 4 รูปแบบ คือ



-กลุ่มเมืองรองแฝงเมืองหลัก เช่น กลุ่มจังหวัดบุรีรัมย์-นครราชสีมา-สระบุรี



-กลุ่มเมืองรองล้อมเมืองหลัก เช่น กลุ่มจังหวัดนครสวรรค์-ชัยนาท-สิงห์บุรี-อ่างทอง-พระนครศรีอยุธยา-ปทุมธานี



-กลุ่มเพื่อนเมืองรอง  เช่น กลุ่มจังหวัดลำปาง-ตาก-กำแพงเพชร-นครสวรรค์



-กลุ่มเมืองฝาแฝด เช่น จังหวัดปราจีนบุรี-ฉะเชิงเทรา



 



#ดีแทค



#ฟื้นท่องเที่ยว

ข่าวทั้งหมด

X