คนไทยว่างงานน้อยลง นับตั้งแต่โควิดระบาด สภาพัฒน์ แนะระวังหนี้เสีย

26 สิงหาคม 2565, 19:12น.


          รายงานภาวะสังคมไทยไตรมาส 2/ 2565 นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ แถลงว่า สถานการณ์ด้านแรงงานในช่วงไตรมาส 2/2565 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยผู้มีงานทำมีจำนวนทั้งสิ้น 39.0 ล้านคน ขยายตัว 3.1% จากการขยายตัวของการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมที่มีการจ้างงาน 27.4 ล้านคน ขยายตัว 4.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเฉพาะสาขาการผลิต สาขาขายส่งขายปลีก และสาขาการขนส่งหรือเก็บสินค้าที่ขยายตัวได้ 6.1% ,12.1% และ 4.9 %ตามลำดับ เป็นผลมาจากการบริโภคและการส่งออกที่ขยายตัวได้ดี



          ด้านจำนวนผู้เสมือนว่างงานปรับตัวลดลงจาก 2.8 ล้านคนในไตรมาส2/2564 เหลือ 2.2 ล้านคน ในปัจจุบัน และผู้ทำงานล่วงเวลา (ทำงานมากกว่า 50 ชั่วโมง/สัปดาห์) มีจำนวน 6.3 ล้านคน เพิ่มขึ้น 5.5 %จากไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้ว อัตราการว่างงานในไตรมาส2/2565 ลดลงต่ำที่สุดตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยมีผู้ว่างงานจำนวน 5.5 แสนคน คิดเป็นอัตราการว่างงาน1.37% ลดลงทั้งผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อนและไม่เคยทำงานมาก่อน



          นายอนุชา กล่าวว่า หนี้สินครัวเรือนในไตรมาส 1/ 2565 ขยายตัวชะลอลง และคุณภาพสินเชื่อทรงตัว แต่ต้องเฝ้าระวังหนี้เสีย โดยเฉพาะสินเชื่อส่วนบุคคลอื่น สินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อรถยนต์   



          ประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญ คือ



1.ผลกระทบของภาระค่าครองชีพที่อาจกดดันให้ครัวเรือนมีความต้องการสินเชื่อมากขึ้น ซึ่งอาจทำให้ครัวเรือนที่รายได้ยังไม่ฟื้นตัวและได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงมีการก่อหนี้มากขึ้น



2.อัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นจะทำให้ต้นทุนการกู้ยืมของครัวเรือนเพิ่มขึ้นและกระทบต่อครัวเรือนที่ขอสินเชื่อใหม่เนื่องจากจะต้องรับภาระหนี้ในส่วนของดอกเบี้ยมากขึ้น



 



#สภาพัฒน์



#ว่างงานลดลง

ข่าวทั้งหมด

X