ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยแพร่รายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (ฉบับย่อ) ครั้งที่ 4/2565 ที่ประชุมเมื่อวันที่ 5 และ 10 ส.ค.65 โดยมีกรรมการที่เข้าร่วมประชุม 7 ราย ประกอบด้วย นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ (ประธาน) นายเมธี สุภาพงษ์ (รองประธาน) นางสาววชิรา อารมย์ดี นายคณิศ แสงสุพรรณ นายรพี สุจริตกุล นายสมชัย จิตสุชน และนายสุภัค ศิวะรักษ์
คณะกรรมการ กนง. มีมติ 6 ต่อ 1 เสียง ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี จากร้อยละ 0.50 เป็นร้อยละ 0.75 ต่อปี โดยให้มีผลทันที ทั้งนี้ 1 เสียงเห็นควรให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.50 ต่อปี คณะกรรมการ เห็นว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องและชัดเจนขึ้น โดยแรงส่งหลักมาจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นมากกว่าคาด และการบริโภคภาคเอกชนที่มีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง ตามการฟื้นตัวของตลาดแรงงานและรายได้ครัวเรือน คาดว่าเศรษฐกิจจะกลับเข้าสู่ระดับก่อนการระบาดโควิด-19 ได้ภายในสิ้นปีนี้และจะขยายตัวต่อเนื่องในระยะต่อไป
ประเด็นสำคัญที่ที่ประชุมอภิปราย คือ คณะกรรมการ มีความมั่นใจว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีแนวโน้มขยายตัวดี จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะขึ้นกับการผ่อนคลายมาตรการการเดินทางระหว่างประเทศและนโยบายสนับสนุนและส่งเสริมการท่องเที่ยวเป็นสำคัญ ซึ่งประเมินว่ามีผลต่อการตัดสินใจเดินทางมากกว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศต้นทาง
คณะกรรมการ ประเมินว่า นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากเป็นพิเศษเพื่อรองรับวิกฤตโควิด-19 ในระยะที่ผ่านมามีความจำเป็นลดลง กรรมการส่วนใหญ่เห็นควรให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี ในการประชุมครั้งนี้เพื่อปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อเอื้อให้เศรษฐกิจฟื้นตัวต่อเนื่องและไม่สร้างแรงกดดันต่อเงินเฟ้อในระยะต่อไป ขณะที่ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูงอีกระยะหนึ่งก่อนที่จะทยอยปรับลดลงเข้าสู่กรอบเป้าหมายในปี 66 ตามแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปทานที่ทยอยคลี่คลาย แต่ความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูง
คณะกรรมการ เห็นว่า การทยอยลดการผ่อนคลายนโยบายการเงิน ควบคู่กับการมีมาตรการเฉพาะจุดเพื่อดูแลกลุ่มเปราะบาง เหมาะสมกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่แตกต่างกันในแต่ละภาคเศรษฐกิจ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะต่อไปจะช่วยให้ความสามารถในการชำระหนี้ของภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนปรับดีขึ้น แต่บางกลุ่มยังเปราะบาง เช่น ผู้ประกอบการ SMEs ในสาขาธุรกิจที่ฟื้นตัวช้าครัวเรือนรายได้น้อยที่มีความอ่อนไหวต่อค่าครองชีพ และลูกหนี้ประเภทไม่มีหลักประกัน (unsecured loan)
มาตรการปรับโครงสร้างหนี้จึงต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อแก้ปัญหาหนี้อย่างยั่งยืนสำหรับกลุ่มเปราะบาง ทั้งนี้ นโยบายการเงินเป็นเครื่องมือที่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง (blunt tool) จึงอาจไม่ใช่เครื่องมือที่เหมาะสมในการดูแลกลุ่มเปราะบาง และการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับต่ำต่อเนื่องอาจสร้างความเสี่ยงต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินในระยะยาว
#ธนาคารแห่งประเทศไทย
#คณะกรรมการนโยบายการเงิน
แฟ้มภาพ