การเตรียมพร้อมรับการชุมนุมในวันนี้ พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รอง ผบช.น.) ในฐานะโฆษก บช.น. กล่าวว่า พล.ต.ท.สำราญ นวลมา ผบช.น.ได้สั่งการให้จัดเตรียมกำลังพล พร้อมยุทโธปกรณ์ เพื่อปฏิบัติการรักษาความสงบเรียบร้อย พร้อมมอบหมายให้มีผู้บัญชาการเหตุการณ์ในแต่ละพื้นที่ไว้แล้ว โดยกำชับให้ปฏิบัติตามกรอบกฎหมายอย่างเคร่งครัด และขอให้ประชาชนหลีกเลี่ยงเส้นทางใกล้พื้นที่ชุมนุม
ขณะนี้ ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนว่าการชุมนุมจะปักหลักค้างคืน รวมถึงความไม่แน่นอนว่าจะมีการเคลื่อนขบวน แต่ตำรวจได้ย้ำเตือนแล้วว่าการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธแม้จะทำได้ แต่การเคลื่อนผู้ชุมนุมต้องปฏิบัติตามมาตรการที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนด
ส่วนการปิดการจราจรนั้นจะพิจารณาไปตามสถานการณ์ โดยคำนึงถึงการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน ยกเว้นจะก่อให้เกิดความวุ่นวาย และเป็นอันตรายต่อประชาชนและสถานที่ ซึ่งเป็นดุลพินิจของผู้บัญชาการเหตุการณ์ในแต่ละจุด
สำหรับการรวมตัวชุมนุมในวันนี้จะมีทั้งสิ้น 6 จุด ได้แก่
1.กลุ่มสภาประชาชนแห่งชาติ และกลุ่มชาวยูเครนในประเทศไทย บริเวณหน้าสถานทูตรัสเซีย ที่มีการชุมนุมยืดเยื้อมานานแล้ว
2.กลุ่มเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล
3.กลุ่มรามคำแหงเพื่อประชาธิปไตย บริเวณรัฐสภา
4.กลุ่มหลอมรวมประชาชน และกลุ่มราษฎรคนเสื้อแดง บริเวณลานคนเมือง
5.กลุ่ม 14 ขุนพล กลุ่มแดงก้าวหน้า และกลุ่มทะลุแก๊ส บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และ
6.กิจกรรมยืนหยุดขัง 3 จุด กลุ่มวีโวรันเทียร์ บริเวณหน้าสำนักงานอัยการสูงสุด กลุ่มศิลปินเพลงเพื่อราษฎร บริเวณหน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร และกลุ่มพลเมืองโต้กลับ บริเวณหน้าศาลฎีกา
ส่วนในวันพรุ่งนี้ (24 ส.ค.) มีรายงานว่ามีการนัดชุมนุม 3 จุด ได้แก่
1.กลุ่มคนแดงปฏิวัติ บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล
2.กลุ่มหลอมรวมประชาชน บริเวณลานคนเมือง และ
3.กลุ่ม 14 ขุนพล และกลุ่มราษฎร บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
โฆษกบชน.ย้ำว่า
1.การชุมนุมอาจก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรค ซึ่งขัดต่อประกาศ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน
2.ถึงแม้จะเป็นการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ จะสามารถดำเนินการได้ แต่ผู้จัดการชุมนุมยังต้องแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ และ
3.การชุมนุมในพื้นที่ที่ส่วนราชการจัดเตรียมไว้ให้ ซึ่งได้รับการยกเว้นไม่ต้องแจ้งขออนุญาตตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ แต่หากมีการเคลื่อนขบวนก็ต้องแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ และต้องปฏิบัติตามมาตรการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน อีกทั้งพนักงานยังสามารถสั่งให้ยุติ ระงับ ยับยั้งการชุมนุมได้ ทั้งนี้หากมีการฝ่าฝืนจะมีโทษจำคุก 2 ปี ปรับ 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
สำหรับความคืบหน้าการดำเนินคดีเกี่ยวกับการชุมนุมในพื้นที่กรุงเทพฯ มีทั้งสิ้น 848 คดี ดำเนินการสอบสวนและสั่งฟ้องไปแล้ว 497 คดี คงเหลือ 351 คดี
#ชุมนุม
#นายกรัฐมนตรี