การยกเลิกพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ย้ำว่า การจะยกเลิกการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินหรือไม่นั้น ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) จะมีการประเมินสถานการณ์อีกครั้งก่อน เพราะยังเหลือระยะเวลาการประกาศใช้จนถึงสิ้นเดือนก.ย.นี้
ดังนั้น ก่อนที่จะถึงวันที่ 1 ตุลาคม ศบค. จะมีการประเมินสถานการณ์ และความเสี่ยงที่เกิดขึ้นในช่วงเปลี่ยนผ่าน หลังจากการประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคระบาดที่ต้องเฝ้าระวังว่าจะต้องคงกลไกในการควบคุม และบริหารจัดการอะไรไว้บ้าง ซึ่งต้องมั่นใจว่าจะไม่เกิดวิกฤตและความเสียหายในมิติต่าง ๆ เกิดขึ้นอีก หรือหากเกิดขึ้นต้องแก้ไขได้ทันท่วงที เน้นมีแผนรองรับที่ดี และวิกฤตความเสียหายต้องไม่เกิดขึ้นอีก ดังนั้น จึงขอให้รอผลการประชุม ศบค. ในเดือนก.ย.ที่จะถึงนี้
นายอนุชา กล่าวว่า สิ่งสำคัญของการประกาศใช้ พ.ร.ก ฉุกเฉินฯ ก็เพื่อควบคุมและป้องกันโรคโควิด-19 ที่เกิดขึ้น โดยไม่ได้มุ่งหวังการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพื่อประเด็นอื่นแต่อย่างใด รวมทั้งเพื่อเกิดการบูรณาการการทำงานร่วมกันของทุกหน่วยงานอย่างเป็นระบบ และมีประสิทธิภาพ เพื่อทำให้ประชาชนเกิดความปลอดภัยจากโควิด-19 โดยการดำเนินงานที่ผ่านมา ก็ได้รับการยอมรับและชื่นชมจากนานาประเทศ ซึ่งสนใจที่จะมาศึกษาแนวทางการดำเนินงานจากประเทศไทย
ก่อนหน้านี้ ที่ประชุม ศบค.เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม ยังไม่ได้มีการหารือเรื่องการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่ที่ประชุม ศบค.ได้หารือถึงการจัดทำกรอบนโยบาย แนวทางปฏิบัติ และห้วงเวลา ในการดำเนินการเปลี่ยนผ่านสู่ภาวะ Post-Pandemic เพื่อการเฝ้าระวัง ป้องกันควบคุมโรคโควิด-19 หรือเป็นแผนการปรับลดระดับสถานการณ์โควิด-19 จากโรคติดต่ออันตราย มาเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ภายใต้หลักการ "เพื่อให้ประชาชนอยู่ร่วมกับโควิด-19 อย่างปลอดภัย สามารถดำเนินชีวิตได้ปกติ
#ยกเลิกพระราชกำหนด
#โควิด19