การฟื้นฟูการท่องเที่ยว หลังสถานการณ์โควิด-19 แพร่ระบาด ในปีนี้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ จัดการประชุมเอเปคด้านการท่องเที่ยว พ.ศ. 2565 ครั้งที่ 11 โดยรัฐมนตรีและตัวแทนจาก 21 เขตเศรษฐกิจเอเปค เข้าร่วมประชุมมากถึง 200 คน เพื่อเป็นการหารือร่วมกันพื้นฟูด้านการท่องเที่ยวในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกในอนาคตหลังคลี่คลายสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ในฐานะประธาน เปิดเผยว่า การประชุมในครั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกพบกันอย่างเป็นทางการด้านการท่องเที่ยวเอเปคในรอบ 2 ปี จากสถานการณ์ โควิด-19 ภายใต้หัวข้อหลัก คือ “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล” หรือ “Open. Connect. Balance.” หรือ “เปิดกว้าง สร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกันสู่สมดุล” ตลอดหนึ่งสัปดาห์ของการประชุมชี้ให้เห็นแล้วว่า ประเทศไทยยังคงมีเสน่ห์ มีมนต์ขลังและสามารถดึงดูดชาวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย จากการตอบรับที่ดีจากผู้เข้าร่วมประชุม นับเป็นความสำเร็จของไทย
สำหรับการประชุมครั้งนี้ ประเทศไทย คาดหวังว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของการกำหนดนโยบายด้านการท่องเที่ยวที่ต่อยอดมาจากแนวคิดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (Sustainable Tourism) เพื่อจะช่วยฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ดูแลรักษาทรัพยากรในแหล่งท่องเที่ยวของไทยให้คงอยู่อย่างยั่งยืน และให้คนในชุมชนมีส่วนร่วม เกิดการกระจายรายได้สู่คนในท้องถิ่นอย่างแท้จริง สร้างระบบให้ชาวบ้านมีอาชีพ พึ่งพาตนเองได้ สร้างประโยชน์ให้กับชุมชนท้องถิ่นในฐานะเป็น “เจ้าบ้าน” ทุกแหล่งท่องเที่ยว โดยสามารถทำให้คนในชุมชนมีความสุขและได้รับประโยชน์ในแบบที่ตนเองต้องการไม่ว่าจะเป็นรายได้ที่เพิ่มขึ้น สิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น และการได้ฟื้นฟูวิถีชีวิตดั้งเดิม
ทั้งนี้การผลักดันประเด็นการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์ร่วมกันของสมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปคไม่เพียงแต่ประเด็นการเชื่อมโยงในภูมิภาค โดยเฉพาะการเดินทาง การท่องเที่ยวระหว่างกัน แต่จะครอบคลุมถึงการส่งเสริม พัฒนาการท่องเที่ยวให้เติบโตอย่างยั่งยืน จะมุ่งสร้างความสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคม
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ยังได้รายงานผลการดำเนินงานภายใต้แผนยุทธศาสตร์ท่องเที่ยวเอเปค พ.ศ. 2563-2567 มุ่งเน้นไปที่การเร่งฟื้นฟูการท่องเที่ยวในช่วงหลังโควิด-19 และบทบาทของภาคการท่องเที่ยวต่อการส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนในภูมิภาค รวมถึงมีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของพื้นที่แต่ละเขตเศรษฐกิจ และหารือถึงวิธีการรักษาสถานะของการท่องเที่ยวในฐานะภาคส่วนที่สร้างประโยชน์และความอยู่ดีกินดีให้แก่ประชาชนในภูมิภาคเอเปคด้วย
อย่างไรก็ตาม การประชุมครั้งนี้เริ่มประชุมตั้งแต่วันที่ 14 ส.ค. จนถึงวันนี้ ที่ประชุมได้ลงนามรับรองเอกสาร 2 ฉบับ ได้แก่ ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อฟื้นฟูการท่องเที่ยวในภูมิภาคเอเปคให้มีอนาคตที่ดีกว่าเดิม : การท่องเที่ยวฟื้นสร้างอย่างยั่งยืน และ คู่มือเอเปคสำหรับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียด้านการท่องเที่ยว ฉบับปรับปรุง ซึ่งเอกสารทั้งสองฉบับนี้เป็นผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมสำหรับความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวของเอเปคในปีนี้ ความสำเร็จทั้งหมดนี้ นับเป็นก้าวสำคัญของเอเปคในการก้าวไปสู่การบรรลุวิสัยทัศน์ปุตราจายา ค.ศ. 2040 และเพื่อให้เราทำงานต่อไปข้างหน้า
#ฟื้นฟูท่องเที่ยว
#เอเปคท่องเที่ยว