อ๊อกซฟอร์ด เปิดผลศึกษาโควิด-19 กระทบสุขภาพจิต-สมอง อย่างน้อย 2 ปีหลังหายป่วย

18 สิงหาคม 2565, 15:07น.


          ดร.พอล แฮร์ริสัน หัวหน้าทีมวิจัยจากภาควิชาจิตเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด อังกฤษ เปิดเผยว่า ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด ศึกษาภาวะผิดปกติทางจิตและสมองของผู้ป่วยจากโรคโควิด-19 ราว 1.28 ล้านคนในอังกฤษ และเผยแพร่ผลวิจัยในวารสารการแพทย์ด้านจิตเวชศาสตร์ เดอะ แลนเซ็ต ไซไคอะทรี(The Lancet Psychiatry) ทีมวิจัยพบว่า คนไข้ที่หายป่วยจากโรคโควิด-19 ยังต้องประสบกับการแปรปรวนทางจิตใจ เช่น วิตกกังวล ซึมเศร้า โรคนอนไม่หลับและภาวะผิดปกติอื่นๆทางระบบประสาทในลักษณะคล้ายกันต่อไปอย่างน้อย 2 ปี หลังหายป่วย



           อีกทั้งสะท้อนถึงภารกิจที่ต่อเนื่องของแพทย์ในการรักษาอาการป่วยเรื้อรังจากโรคโควิด-19 ซึ่งทีมวิจัยคาดว่า หน่วยงานสาธารณสุขทั่วโลกต้องใช้งบประมาณรวม 1.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อปี หลังโรคโควิด-19 แพร่ระบาดทั่วโลก 2 ปีที่ผ่านมา



          ทีมวิจัย ระบุว่า การวิตกกังวลและภาวะซึมเศร้าเป็นอาการผิดปกติทางจิตใจที่เกิดขึ้นบ่อยมาก หลังป่วยจากโรคโควิด-19 เมื่อเทียบกับการป่วยจากโรคระบบทางเดินหายใจอื่นๆ แต่ข่าวดีคือ ส่วนใหญ่ การวิตกกังวลและภาวะซึมเศร้าจะค่อยๆหมดไปโดยลำดับ หลังหายป่วยราว 2 เดือน ตรงกันข้าม ภาวะถดถอยด้านประสิทธิภาพการทำงานของสมองหรือที่เรียกว่า ภาวะสมองล้า (Brain Fog)โรคลมชัก(epilepsy) อาการชักเกรง (seizure) และอาการป่วยจากภาวะผิดปกติทางจิตใจและสมองอื่นๆจะแสดงอาการป่วยอีก 24 เดือนหลังหายป่วย



          ก่อนหน้านี้ ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ดระบุในเดือนมีนาคมว่า แม้คนไข้มีอาการป่วยเล็กน้อยจากโรคโควิด-19 ทีมวิจัยพบปริมาณเซลล์เนื้อสมองของคนไข้หดลงพอๆกับการเสื่อมสภาพตามอายุขัยราว 10 ปี แสดงให้เห็นว่าโรคโควิด-19 มีผลกระทบทางด้านสุขภาพกาย จิตใจและระบบประสาทของคนไข้ต่อไปหลายปี หลังหายป่วย และพบว่า อาการผิดปกติทางจิตใจและสมองในกลุ่มคนไข้วัยผู้ใหญ่มีมากกว่ากลุ่มคนไข้เด็ก



 



#อังกฤษ



#ผลกระทบต่อสุขภาพจิต



#ผลวิจัยโควิด

ข่าวทั้งหมด

X