ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุการส่งออกทรุด แนวโน้มเศรษฐกิจขยายตัวร้อยละ 2.8

24 มีนาคม 2558, 10:45น.


ศูนย์วิจัยกสิกรไทยปรับลดประมาณการเศรษฐกิจปีนี้เหลือร้อยละ 2.8 จากเดิมมองไว้ร้อยละ 4 เนื่องจากการส่งออกส่งสัญญาณหดตัวมากกว่าที่คาดไว้  นางพิมลวรรณ มหัจฉริยวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการบริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า ศูนย์วิจัยกสิกรฯ ได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยในปีนี้ลง เพราะแม้เศรษฐกิจจะมีทิศทางปรับตัวดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา แต่ก็ช้ากว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ โดยมีสาเหตุหลัก การส่งออกมีแนวโน้มหดตัวกว่าที่คาด อันเป็นผลจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ดิ่งลง จึงคาดว่าในไตรมาสแรกปีนี้การส่งออกอาจติดลบร้อยละ 3.9 และทั้งปีอาจจะไม่ขยายตัวเลย , การบริโภคภาคเอกชน แม้ราคาพลังงานจะลดลง แต่ก็ไม่สามารถชดเชยกำลังซื้อในกลุ่มเกษตรกรที่อ่อนแอลง และภาระหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้นได้และปัจจัยสุดท้ายคือการลงทุนภาคเอกชนที่อาจรอสัญญาณฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและการลงทุนของภาครัฐให้ชัดเจนมากขึ้น อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยสนับสนันเพิ่มเติมจากการท่องเที่ยวฟื้นตัวได้เร็วกว่าคาด และรัฐบาลเพิ่มมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมทั้งแรงกดดันเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ


นอกจากนี้ การส่งออกยังไม่ใช่ปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปีนี้ แต่ต้องจับตาราคาสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น ราคาน้ำมัน หากเริ่มกลับมาเพิ่มขึ้นก็อาจจะส่งผลให้การส่งออกช่วงครึ่งปีหลังดีขึ้นกว่าครึ่งปีแรก นอกจากนี้ ยังต้องจับตาการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ รวมทั้งงบกระตุ้นเศรษฐกิจรอบ 2 มูลค่า 8 หมื่นล้านบาท หากเม็ดเงินทยอยออกมาสู่ระบบเศรษฐกิจได้เร็วก็จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงครึ่งปีหลังได้ค่อนข้างมาก


ด้าน นายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยในปีนี้มีโอกาสปรับลดลงได้อีก หากเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว ล่าสุดธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาปรับลดคาดการณ์จีดีพีในปีนี้ลงเหลือร้อยละ 3.8 จากเดิมร้อยละ 4 ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรฯ เชื่อว่า ไม่สามารถเติบโตได้ตามที่ ธปท.คาดการณ์ แต่ก็ต้องติดตามทิศทางการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ด้วย ส่วนสถานการณ์หนี้ครัวเรือนของไทย มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น โดนคาดว่า ณ สิ้นปี 2558 ยอดหนี้ครัวเรือนจะอยู่ที่ระดับร้อยละ 88-89 ต่อจีดีพี โดยขยับเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 3 ของปี 2557 ที่ระดับร้อยละ 83.5 และไตรมาส 4 ที่ระดับร้อยละ 85.5 เนื่องจากการบริโภคในภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้นเร็วกว่าภาคธุรกิจ จึงทำให้ปริมาณสินเชื่อถูกผลักดันจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคเป็นหลักส่งผลให้หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังเป็นเป็นการเพิ่มขึ้นในอัตราที่ช้าลงเมื่อเทียบกับ 2-3 ปีที่ผ่านมา


..
ข่าวทั้งหมด

X