สำนักเฝ้าระวังภัยแล้งของยุโรป (European Drought Observatory) เปิดเผยว่าข้อมูลเรื่องภัยแล้งที่รวบรวม 10 วัน เริ่มจากปลายเดือนกรกฎาคม ชี้ว่า ร้อยละ 60 ของสภาพพื้นผิวดินในกลุ่มสหภาพยุโรป(อียู)และอังกฤษ ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าผืนดินของรัฐอลาสก้าและรัฐเท็กซัสของสหรัฐฯรวมกัน เริ่มประสบภัยแล้ง ทำให้หลายประเทศ ต้องยกระดับการเฝ้าระวังภัยแล้งในปีนี้
สำนักเฝ้าระวังภัยแล้งของยุโรป ระบุว่า ร้อยละ 45 ของพื้นที่ในกลุ่มอียูและอังกฤษที่มีการเตือนเรื่องภัยแล้ง พบว่า ดินมีสภาพแห้งแล้งไม่มีความชุ่มชื้น ร้อยละ 15 ยกระดับการเฝ้าระวังเรื่องภัยแล้ง ส่งผลกระทบพื้นที่การเกษตร ข้อมูลนี้ สอดคล้องกับรายงานซึ่งสำนักงานตรวจสอบสภาพภูมิอากาศของยุโรปหรือ โคเปอร์นิคัส (Copernicus) เผยแพร่เมื่อวันจันทร์ ระบุว่า ผืนดินส่วนใหญ่ของยุโรปมีสภาพแล้งกว่าปกติในเดือนกรกฎาคม มีปริมาณฝนต่ำ และมีปัญหาภัยแล้งในหลายประเทศในแถบตะวันตกเฉียงใต้และตะวันออกเฉียงใต้ของยุโรป
ขณะเดียวกัน อ่างเก็บน้ำและแม่น้ำในหลายประเทศของยุโรปรวมทั้งอิตาลีมีระดับน้ำต่ำมากในเดือนที่แล้ว สำหรับอังกฤษมีฝนเฉลี่ย 46.3 มิลลิเมตร หรือร้อยละ 56 ของปริมาณฝนเฉลี่ยทั้งเดือนในเดือนกรกฎาคม ส่วนฝรั่งเศสมีปริมาณฝน 9.7 มิลลิเมตรในเดือนที่แล้ว นับว่าแล้งที่สุดนับแต่ฝรั่งเศสเริ่มบันทึกข้อมูลการพยากรณ์อากาศครั้งแรกในปี 2502 หรือ 63 ปี
นอกจากนี้ คลื่นอากาศร้อนแผ่ปกคลุมในบางท้องที่ของยุโรป ทำให้ฤดูร้อนของยุโรปในระยะนี้มีอุณหภูมิสูงเป็นสถิติใหม่เช่น สถิติอากาศที่หมู่บ้านโคนิงสบี เมืองลิงคอล์นเชียร์ อังกฤษ เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม อุณหภูมิแตะ 40.3 องศาเซลเซียสเป็นครั้งแรก อากาศร้อนกว่าทุกปี ทั้งสเปน ฝรั่งเศสและอังกฤษ อุณหภูมิสูงกว่า 40 องศาเซลเซียสในเดือนที่แล้ว สภาพอากาศเช่นนี้จะทำให้เกิดปัญหาไฟป่ารุนแรงยิ่งขึ้นในหลายท้องที่ของยุโรป
#ยุโรป
#การเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ