'นพ.ยง' ห่วง 'ฝีดาษลิง ควบคุมได้ยาก' หากคนนำเชื้อข้ามไปสัตว์ จนสัตว์ข้ามมาสู่คนได้อีก

29 กรกฎาคม 2565, 10:50น.


          ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยในเฟซบุ๊กส่วนตัว Yong Poovorawan เรื่องของฝีดาษลิง หรือ ฝีดาษวานร โดยระบุว่า "ฝีดาษวานร โรคที่ยากต่อการควบคุม นับตั้งแต่การระบาดของโรคนอกทวีปแอฟริกา มีการกระจายเพิ่มขึ้นและมียอดผู้ป่วยสูงขึ้นมาโดยตลอด ยังไม่มีทีท่าว่าจะลดลง ปัจจุบันมีผู้ป่วยมากกว่า 17,000 คน มากกว่า 75 ประเทศ แต่ส่วนใหญ่ยังอยู่ในยุโรปและสหรัฐอเมริกา


         เป็นที่น่าสังเกตว่า การรายงานผู้ป่วยเข้าสู่องค์การอนามัยโลก จะไม่ยอมบอกเพศ ที่บอกเพศมีไม่ถึงครึ่งหนึ่ง และเป็นในเพศชายถึง 98 % กว่า เพศหญิงแค่ 1% ไม่มีผู้เสียชีวิตนอกแอฟริกา ที่เสียชีวิตจะอยู่ในทวีปแอฟริกาเพียง 5 ราย 


          การติดต่อนอกทวีปแอฟริกา เกี่ยวกับกิจกรรมทางเพศสัมพันธ์ ส่วนใหญ่จะเป็นเพศเดียวกัน และเกือบ 40% มีรอยโรคเกิดขึ้นที่อวัยวะเพศ 


          โรคนี้จึงยากต่อการควบคุม เพราะเมื่อเปรียบเทียบกับ HIV ในระยะแรกเมื่อ 40 ปีก่อน การเริ่มต้นก็แบบเดียวกัน HIV ไม่แสดงอาการของโรคในระยะแรก กว่าจะแสดงอาการก็มีการแพร่กระจาย ติดต่อไปมากพอสมควร ฝีดาษวานร ก็เช่นเดียวกัน อาการส่วนใหญ่ไม่มาก เมื่อมีอาการไม่มาก จึงยากในการควบคุม โดยเฉพาะบางรายอาจจะไม่มีอาการ หรือตุ่มขึ้นเพียงเม็ด 2 เม็ดก็ได้ แต่ข้อดีของฝีดาษวานรมากกว่า HIV คือ ผู้ป่วยโรคนี้จะไม่เรื้อรัง เป็นอยู่ประมาณ 2-4 อาทิตย์ ก็หายขาดเป็นปกติ ไม่เป็นพาหะของโรค 


          ในอนาคตถ้าควบคุมไม่ได้ การกระจายโรค จะไม่อยู่ในเฉพาะเพศชายเท่านั้น จะกระจายเข้าสู่คนใกล้ชิด และเข้าสู่ระบบ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ทำให้ควบคุมได้ยาก


           สิ่งที่น่าเป็นห่วงต่อไปก็คือ แต่เดิมเป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน โดยเฉพาะสัตว์จำพวกพันธุ์แทะ เช่นหนู (giant gambian rat) ในแอฟริกา แต่ขณะนี้เป็นการติดต่อระหว่างคนสู่คน และต่อไปถ้าคนเอาเชื้อนี้ข้ามไปยังสัตว์ไม่ว่าจะเป็นสัตว์เลี้ยงหรือสัตว์ท้องถิ่น เช่นหนู แล้ว สัตว์จะเป็นพาหะ อยู่ในสัตว์ก็จะยิ่งยากในการควบคุม และ การติดต่อจากสัตว์จะข้ามมาสู่คนได้อีก โดยเฉพาะสัตว์ฟันแทะที่อยู่ในเมือง ก็จะทำให้เกิดเป็นโรคประจำถิ่น ที่ยากต่อการกำจัดหรือควบคุม"


 


 


 


 


#ฝีดาษลิง


CR:Yong Poovorawan,สถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์


แฟ้มภาพ


 
ข่าวทั้งหมด

X