ในช่วงนี้ หลายจังหวัด ต้องเฝ้าระวังน้ำหลากและน้ำท่วมฉับพลัน นายชยันต์ เมืองสง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เลขานุการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ(กอนช.) ออกประกาศฉบับที่ 21/2565 เตือน 19 จังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก เตรียมความพร้อมในช่วงวันที่ 21-25 ก.ค.65
หลังจากกรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศเตือนว่าในช่วงระยะเวลาดังกล่าว ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมาก
กอนช.ประเมินสถานการณ์น้ำจากฝนคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) พบว่าจะมีปริมาณฝนตกสะสมต่อเนื่อง ประกอบกับสถานการณ์น้ำในลำน้ำและแหล่งน้ำธรรมชาติบางพื้นที่ที่ฝนตกหนักอยู่ในเกณฑ์น้ำมาก อาจส่งผลให้เกิดน้ำหลาก และน้ำท่วมฉับพลัน จึงขอให้เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงในช่วงวันที่ 21-25 ก.ค.65
1. เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก น้ำท่วมขัง
*ภาคเหนือ
-จังหวัดเชียงใหม่ (อำเภอเชียงดาว)
-จังหวัดเชียงราย (อำเภอเวียงป่าเป้า)
-จังหวัดน่าน (อำเภอบ่อเกลือ เชียงกลาง และเฉลิมพระเกียรติ)
-จังหวัดอุตรดิตถ์ (อำเภอบ้านโคก)
-จังหวัดพิษณุโลก (อำเภอนครไทย และชาติตระการ)
-จังหวัดเพชรบูรณ์ (อำเภอน้ำหนาว เมืองเพชรบูรณ์ และหนองไผ่)
-จังหวัดอุทัยธานี (อำเภอหนองฉาง)
*ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
-จังหวัดเลย (อำเภอเมืองเลย ด่านซ้าย และท่าลี่)
-จังหวัดหนองคาย (อำเภอโพนพิสัย และรัตนวาปี)
-จังหวัดสกลนคร (อำเภอบ้านม่วง)
-จังหวัดบึงกาฬ (อำเภอเมืองบึงกาฬ โซ่พิสัย เซกา ปากคาด บึงโขงหลง ศรีวิไล และบุ่งคล้า)
-จังหวัดชัยภูมิ (อำเภอบ้านเขว้า และหนองบัวแดง)
-จังหวัดขอนแก่น (อำเภอภูเวียง ภูผาม่าน เวียงเก่า และหนองนาคำ)
-จังหวัดกาฬสินธุ์ (อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ และ ยางตลาด)
-จังหวัดนครราชสีมา (อำเภอเสิงสาง จักราช พิมาย ห้วยแถลง ชุมพวง หนองบุญมาก และ ลำทะเมนชัย)
-จังหวัดบุรีรัมย์ (อำเภอนางรอง ละหานทราย ประโคนชัย เฉลิมพระเกียรติ โนนดินแดง โนนสุวรรณ และ ลำปลายมาศ)
-จังหวัดสุรินทร์ (อำเภอปราสาท และกาบเชิง)
*ภาคตะวันออก
-จังหวัดสระแก้ว (อำเภอตาพระยา)
-จังหวัดตราด (อำเภอเกาะกูด เกาะช้าง และเขาสมิง)
2. เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลัน บริเวณแม่น้ำน่านและลำน้ำสาขา แม่น้ำแควน้อย แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำเลย แม่น้ำชี แม่น้ำมูล และแม่น้ำตราด
3. เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ที่มีปริมาตรน้ำสูงกว่าเกณฑ์ปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำกักเก็บสูงสุด (Upper Rule Curve) 3 แห่ง ได้แก่
-อ่างเก็บน้ำแม่งัดสมบูรณ์ชล จังหวัดเชียงใหม่
-อ่างเก็บน้ำลำนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์
-อ่างเก็บน้ำอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น
อ่างเก็บน้ำขนาดกลางที่มีปริมาตรน้ำมากกว่าร้อยละ 80 และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เสี่ยงน้ำล้นกระทบพื้นที่บริเวณท้ายอ่างเก็บน้ำ
-บริเวณภาคเหนือ (จังหวัดเชียงใหม่ น่าน และเพชรบูรณ์)
-ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (จังหวัดเลย บึงกาฬ ขอนแก่น และนครราชสีมา)
-ภาคตะวันออก (จังหวัดสระแก้ว และตราด)
ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ดังนี้
1. ติดตามสภาพอากาศและสภาพน้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมขังอยู่เป็นประจำ
2. ตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงและความสามารถใช้งานของอ่างเก็บน้ำ อาคารบังคับน้ำ และติดตาม ตรวจสอบ ซ่อมแซม แนวคันบริเวณริมแม่น้ำและกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ พร้อมทั้งวางแผนการบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสมกับปริมาตรน้ำในอ่างเก็บน้ำ และระดับน้ำในลำน้ำ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์
3. เตรียมแผนรับสถานการณ์น้ำหลาก เตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือ รวมถึงความพร้อมของระบบสื่อสารสำรอง เพื่อบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือได้ทันที
4. ประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำ และแจ้งเตือนล่วงหน้า ให้ประชาชนที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ เตรียมพร้อมในการอพยพ
#เตือนพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก
#น้ำท่วมฉับพลัน
CR:กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ