สถานการณ์โควิด-19 ในกรุงเทพมหานคร นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประชุมหารือแนวทางการประสานงานกับมูลนิธิต่างๆ พร้อมรับฟังปัญหาและอุปสรรคในการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งการประชุมได้เปิดระบบออนไลน์ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม
นายชัชชาติ เปิดเผยว่า วันนี้ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีที่ได้ประชุมหารือกับกลุ่มเอกชนที่ดูแลประชาชนในพื้นที่ เช่น จากกลุ่มเส้นด้าย ทีมงานสายไหมต้องรอด เพจ "เราต้องรอด" ที่เป็นคนที่สัมผัสอยู่ที่พื้นที่หน้างานจริง ๆ เพื่อรับฟังปัญหาและแก้ไขการทำงานประสานงานร่วมกัน
การแก้ไขความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับการรับผู้ป่วยของโรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานคร ไม่จำกัดจำนวน ขอให้ผู้ป่วยโควิด-19 ไปรับบริการได้ที่โรงพยาบาลสังกัดกทม. ทั้ง 11 แห่ง รวมถึงวชิรพยาบาลและศูนย์บริการสาธารณสุขทั้ง 69 แห่งในพื้นที่กรุงเทพฯด้วย ซึ่งบางทีอาจมีปัญหาเรื่องพื้นที่คับแคบรองรับผู้ป่วยได้จำนวนไม่มากแต่ก็จะมีการนัดหมายเพื่อมารับยาในวันต่อไปได้ โดยจะขยายวันทำการเพิ่มในวันเสาร์เพื่อรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ในแต่ละพื้นที่เขตอีกด้วย
รวมทั้งการสร้างความเข้าใจให้กับผู้ป่วยกลุ่ม 608 ที่ตรวจ ATK แล้วพบว่าตัวเองติดเชื้อ ซึ่งอาจมีความเสี่ยงในการเดินทางมารับยาหรือพบแพทย์ก็สามารถนำบัตรประชาชนและผลตรวจให้ญาติพี่น้องมารับยาแทนได้
ส่วนผู้ป่วยอาการไม่มากหรืออาการสีเขียวบางครั้งอาจไม่ต้องรับยาก็ขอให้เชื่อแพทย์ในการวินิจฉัยโรคในการบ่งชี้ว่ากลุ่มไหนจะต้องได้รับยาหรือไม่ได้รับยา จึงขอประชาสัมพันธ์ให้ทราบว่าอย่าตื่นตระหนกหากไม่ได้รับยาเพราะบางครั้งโรคจะหายไปเองแบบไข้หวัด
สำหรับกลุ่มที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือกลุ่ม 608 และมีโรคประจำตัว เมื่อได้รับยาแล้วก็จะมีระบบ HI หรือ Home Isolation พร้อมเจ้าหน้าที่ในการดูแลติดตามอาการอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งในปัจจุบันระบบอาจยังดำเนินการไม่สมบูรณ์กทม.ก็จะเร่งแก้ไขต่อไป
นอกจากนี้กทม.ยังได้เปิดการให้บริการโรงพยาบาลสนามเพื่อรองรับผู้ป่วยสีเขียวเพิ่ม จำนวนกว่า 500 เตียง ที่สนามกีฬาบางกอกอารีน่า เขตหนองจอก และศูนย์กีฬาเฉลิมพระเกียรติ เขตทุ่งครุ ซึ่งกทม.จะทำหน้าที่ประสานกับหน่วยงานภายนอกในเรื่องของการเพิ่มเตียงเพื่อรองรับผู้ป่วยในกรุงเทพฯได้มากขึ้นอีกด้วย รวมถึงการประสานการดูแลส่งต่อผู้ป่วยระหว่างโรงพยาบาลนอกสังกัดกทม.
ด้าน สายด่วนศูนย์เอราวัณ 1669 ผู้ว่าฯกทม.ย้ำว่า ขณะนี้มีการปรับปรุงให้มี 60 คู่สาย เพื่อรองรับผู้ป่วยที่โทรมาให้ได้รับการบริการอย่างรวดเร็ว ผู้ป่วยทุกกลุ่มอาการสีต่างๆสามารถโทรได้ รวมถึงการขอรับบริการฉีดวัคซีนด้วยที่จะมีการขยายบริการฉีดวัคซีนให้ถึงบ้าน เพราะขณะนี้การฉีดวัคซีน Booster Shot เป็นสิ่งสำคัญมากที่จะช่วยลดอาการป่วยไม่ให้เป็นระดับสีแดงและช่วยบุคลากรทางการแพทย์ไม่ให้รับภาระหนักได้ ซึ่งขณะนี้สามารถไปฉีดวัคซีนได้ที่โรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานครทั้ง 11 แห่ง ศูนย์บริการสาธารณสุขของกรุงเทพมหานครทั้ง 69 แห่ง และอาคารกีฬาเวสน์ ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร ไทย-ญี่ปุ่น (สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง) ได้ทุกวัน
นอกจากนี้ ผู้ป่วยโควิด-19 หากมีอาการป่วยให้รักษาตัวเองแบบ 5 + 5 คือรักษาตัวเอง 5 วันและกักตัวเองอีก 5 วัน เพื่อความปลอดภัยและลดการแพร่ระบาดสู่ผู้อื่น
ปัจจุบันโรงพยาบาลในสังกัดกรุงเทพมหานครมีจำนวนเตียงประมาณ 760 เตียง อัตราครองเตียงอยู่ 47% รองรับผู้ป่วยระดับสีแดง 24 เตียง มีผู้เข้ารับการรักษาอยู่ 17 เตียง รองรับผู้ป่วยระดับสีเหลือง 700 เตียง มีผู้เข้ารับการรักษาอยู่ 366 เตียง ภาพรวมของทุกโรงพยาบาลในพื้นที่กรุงเทพฯ มีเตียง 5,600 เตียง มีผู้ครองเตียงรักษาพยาบาลอยู่ 3,000 กว่าเตียง คิดเป็น 47% ซึ่งยังสามารถรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพฯได้
#โควิด19