การส่งเสริมอาสาตาจราจรบนท้องถนน ในวันนี้ (19 ก.ค. 65) พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รอง ผบ.ตร. ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารงานจราจร (ศจร.ตร.) พร้อมด้วย นพ.แท้จริง ศิริพานิช เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ, คุณกานดา วัฒนายิ่งสมสุข ที่ปรึกษาฝ่ายการตลาด บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) สถานีวิทยุ จส.100 และผู้แทนสถานีวิทยุ สวพ.91 ร่วมแถลงผลการมอบรางวัลและเกียรติบัตร โครงการอาสาตาจราจร ประจำเดือน พ.ค. และ มิ.ย.65 ให้แก่
เจ้าของคลิปวิดีโอที่ได้รับคัดเลือก รวมจำนวน 20 คลิป เงินรางวัลรวม 100,000 บาท
สำหรับคลิปที่ได้รางวัลที่ 1 ของเดือน พ.ค.65 คือ
-คลิปรถจักรยานยนต์ขับขี่ชนคนข้ามทางม้าลาย ขณะที่สัญญาณไฟเป็นสีแดง เหตุเกิดเมื่อวันที่ 17 พ.ค.65 พื้นที่ สน.บางขุนเทียน
ส่วนคลิปที่ได้รางวัลที่ 1 ของเดือน มิ.ย.65 คือ
-คลิปอุบัติเหตุรถกระบะขับข้ามเลนชนประสานงา ถ.โอ่งไหม อ.อู่ทอง จ.กาญจนบุรี พื้นที่ สภ.อู่ทอง ซึ่งทั้ง 2 คดี พงส.ได้รับคำร้องทุกข์ และอยู่ระหว่างการสอบสวนดำเนินคดีกับผู้ทำผิด
นอกจากนั้น พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ ยังได้ย้ำว่า เพื่อเป็นการป้องกันและลดอุบัติเหตุ ตร. ได้แก้ไข พ.ร.บ.จราจรทางบก (ฉบับที่ 13) พ.ศ.2565 ซึ่งมีหลักการสำคัญ เช่น
1) การเพิ่มโทษของผู้ที่กระทำผิดซ้ำข้อหาเมาแล้วขับภายใน 2 ปีนับแต่วันกระทำผิดครั้งแรก ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับตั้งแต่ 50,000 – 100,000 บาท
2) กำหนดอำนาจในการตรวจปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดและสารเสพติดในร่างกายของผู้ขับขี่ที่หมดสติซึ่งไม่อาจให้ความยินยอมได้
3) เพิ่มอัตราโทษปรับขั้นสูงในกฎหมายจราจร จากเดิมโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 1,000 บาท แก้ไขเพิ่มเป็นปรับสูงสุดไม่เกิน 4,000 บาท และ
4) การกำหนดให้ใช้ที่นั่งนิรภัยหรือมีวิธีป้องกันอันตรายสำหรับเด็กอายุไม่เกิน 6 ปี ขณะโดยสารรถยนต์ ที่ขณะนี้ ตำรวจอยู่ระหว่างจัดทำประกาศรูปแบบที่นั่งนิรภัย รวมถึงเปิดช่องทางผ่อนคลายสำหรับประชาชนที่ไม่สามารถจัดหาที่นั่งนิรภัยเด็กไว้โดย โดยให้ปฏิบัติตามวิธีการป้องกันอันตราย ซึ่งจะกำหนดรูปแบบที่ประชาชนสามารถปฏิบัติได้ง่าย ไม่เพิ่มภาระค่าใช้จ่าย โดยกฎหมายฉบับใหม่ จะมีผลใช้บังคับในวันที่ 5 ก.ย.65
นอกจากนั้น ตั้งแต่วันที่ 9 ม.ค. 2566 ตำรวจจะใช้มาตรการทางปกครอง 2 เรื่อง คือ ระบบตัดคะแนนความประพฤติ ในการขับรถ และ การสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่กรณีกระทำผิดกฎจราจร แล้วส่งผลให้เกิดอันตรายอย่างร้ายแรง เพื่อสร้างจิตสำนึกในการขับขี่ปลอดภัยด้วย
ระบบนี้กำหนดให้ผู้ได้รับใบอนุญาตขับขี่มีคะแนนคนละ 12 คะแนน หากทำผิดกฎจราจรจะถูกตัดคะแนนตามจำนวนที่กำหนด โดยข้อหาความผิดมีตั้งแต่ 1 จนถึง 4 คะแนน ข้อหาที่ตัด 1 คะแนน เช่น ขับรถเร็ว ฝ่าฝืนเครื่องหมายทางม้าลาย ไม่สวมหมวกนิรภัย ไม่รัดเข็มขัดนิรภัย ใช้โทรศัพท์ขณะขับรถ ตัด 2 คะแนน เช่น ฝ่าไฟแดง ย้อนศร ตัด 3 คะแนน เช่น แข่งรถในทาง และตัด 4 คะแนน เช่น ขับรถในขณะเมาสุรา หากคะแนนถูกตัดจนเหลือศูนย์คะแนน จะถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ เป็นระยะเวลา 90 วัน
สำหรับคะแนนที่ถูกตัด จะมีการคืนคะแนนเมื่อครบกำหนด 1 ปี สำหรับการทำผิดครั้งนั้นๆ หรือกรณีที่มีคะแนนเหลือน้อย อาจขอเข้ารับการอบรมความรู้เกี่ยวกับการขับรถและวินัยจราจร จากกรมการขนส่งทางบก เพื่อรับคืนคะแนนตามที่หลักสูตรกำหนดได้
นอกจากนั้น ยังมีหลักเกณฑ์การสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่กรณีผู้ขับขี่ทำผิดกฎหมายจราจร และการกระทำนั้นมีผลหรือมีลักษณะร้ายแรง ได้แก่ (1) มีเหตุ ก่อให้เกิด น่าจะก่อให้เกิด อันตรายร้ายแรงสาธารณะ (2) มีลักษณะเป็นภัยแก่ประชาชนอย่างร้ายแรง และ (3) มีพฤติการณ์หลบหนีเมื่อก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคล/ทรัพย์สิน ซึ่ง ผบช.น. ภ.1-9 และ ก. เป็นผู้มีอำนาจออกคำสั่งพักใช้ใบขับขี่ผู้นั้น ครั้งละไม่เกิน 90 วัน โดยการสั่งพักใช้ตามข้อนี้ แยกต่างหากจากระบบตัดคะแนนความประพฤติในการขับรถ ระเบียบฉบับนี้ มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 13 ก.ค.65
สำหรับ การขับรถในระหว่างถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 156 แห่ง พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
#วินัยจราจร
#สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
#JS100