ผลการหารือนัดแรก ระหว่างศาสตราจารย์พิเศษธงทอง จันทรางศุ ประธานกรรมการบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) กับนายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี เรื่องโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว
ศาสตราจารย์พิเศษธงทอง เปิดเผยรายละเอียดหลังการประชุม
-เรื่องแรกที่ได้พูดคุยคือในเรื่องของการเปิดเผยสัญญาที่กรุงเทพธนาคม ได้มอบสัญญาที่ได้ทำร่วมกับบีทีเอสซี ให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ ซึ่งเมื่อ กทม.รับสัญญาแล้วจะนำไปดำเนินการในเรื่องการเปิดเผยข้อมูลอย่างไรเป็นเรื่องของกทม.บีทีเอสซี ก็ได้ฝากข้อสังเกตว่าหากมีการเปิดเผย ก็น่าที่จะเปิดเผยโดยเท่าเทียมกับบริษัทอื่นที่ทำธุรกิจเดียวกัน
-การฟ้องร้องศาลปกครอง เป็นคดีความในเรื่องของค่าเดินรถ เพื่อไม่ให้ล่าช้าไปจนถึงคดีความสิ้นสุด ซึ่งจะต้องมีค่าดอกเบี้ยต่าง ๆ ที่เพิ่มขึ้นตลอดนั้น ได้มีการพูดคุยและเห็นร่วมกันว่าจะมีการตั้งคณะทำงานเพื่อมาพูดคุยเรื่องตัวเลขต่างๆ ที่อาจยังมีความเห็นต่างกันอยู่ รวมทั้งในเรื่องของค่าใช้จ่ายในการเดินรถ เพื่อดูในข้อเท็จจริงที่เป็นปัจจุบัน ซึ่งอาจมีปัจจัยหลายอย่างเปลี่ยนแปลงไป เช่น เรื่องของเทคโนโลยีต่าง ๆ หรือในส่วนของค่าโฆษณาบนตัวรถไฟฟ้าที่ไม่มีการระบุไว้ในสัญญาทั้งส่วนที่1 และส่วนที่ 2 และในเรื่องที่การมีส่วนต่อขยายเพิ่มขึ้นส่งผลให้จำนวนผู้โดยสารในส่วนสัญญาสัมปทานเพิ่มขึ้นด้วยนั้นจะต้องมีการพูดคุยในรายละเอียด
-เคทีและบีทีเอสซี จะตั้งคณะทำงานเพื่อไปดูในข้อมูลต่างๆ แล้วจึงนำข้อมูลที่ต่างฝ่ายได้พิจารณาแล้วมาให้คณะกรรมการชุดย่อยที่มีตัวแทนทั้ง 2 ฝ่าย นำมาพูดคุยกัน
-ในส่วนของเคที ก็จะมีการจ้างบริษัทที่ปรึกษาซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญเข้ามาดูข้อมูลให้รอบคอบ
-หากการพูดคุยร่วมกันทั้ง 2 ฝ่ายเป็นที่ยุติได้เร็วก็น่าจะเป็นเรื่องที่ดีกว่าการรอให้คดีความสิ้นสุด
-การหารือในภาพรวม บีทีเอสซีก็พร้อมที่จะพูดคุยกันในข้อมูลที่เป็นเหตุเป็นผล ซึ่งก็ต้องขอเวลาให้คณะทำงานได้ทำงานกันก่อน หากมีความชัดเจน มีความคืบหน้า ก็สามารถนัดหมายพูดคุยกันได้อีก
ศาสตราจารย์พิเศษธงทอง กล่าวว่า สำหรับประเด็นการจัดเก็บค่าโดยสารส่วนต่อขยาย ช่วงหมอชิต-คูคต และส่วนต่อขยายจากแบริ่ง-สมุทรปราการที่เดินรถฟรีมานาน ไม่ได้อยู่ในอำนาจหน้าที่ของเคที เป็นการตัดสินใจของกทม.ในเรื่องนี้ได้รับข้อมูลจากทางบีทีเอสซีเพื่อไปแจ้งกับผู้บริหารกทม.ว่า เมื่อมีการตัดสินใจกำหนดอัตราค่าโดยสารเป็นเท่าไรแล้ว บีทีเอสซีจะต้องใช้เวลาในการปรับระบบต่างๆ ป้ายแจ้งต่าง ๆ ในสถานี ซึ่งจะต้องใช้เวลาประมาณ 1 เดือน ที่จะดำเนินการเตรียมระบบรองรับ ซึ่งจะนำข้อมูลให้ กทม.ต่อไป
#เคที
#บีทีเอสซี
#รถไฟฟ้าสายสีเขียว
CR:กรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานประชาสัมพันธ์