ประธานาธิบดีไบเดน สร้างชนวนขัดแย้งซาอุฯ ด้วยการยกประเด็น ‘คาช็อกกี’ ขึ้นมาหารือ

17 กรกฎาคม 2565, 11:23น.


          ประธานาธิบดี โจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ สิ้นสุดการเดือนทางเยือนตะวันออกกลางครั้งแรกในฐานะประธานาธิบดี ด้วยการเดินทางเยือนอิสราเอล ปาเลสไตน์ และเข้าร่วมการประชุมสันนิบาตอาหรับที่เมืองเจดดาห์ ซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเขาแสดงวิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์การมีส่วนร่วมของสหรัฐฯ ในภูมิภาคตะวันออกกลางโดยยืนยันว่าอเมริกาจะยังคงเป็นพันธมิตรที่กระตือรือร้นในตะวันออกกลาง แต่ไม่มีการให้คำมั่นด้านความมั่นคงในภูมิภาคและเรื่องพลังงาน ทั้งในการเดินทางเยือนซาอุดีอาระเบีย ยังจุดชนวนการโต้แย้ง เมื่อเข้าหารือกับมกุฎราชกุมารโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน แห่งซาอุดีอาระเบีย แล้วยกประเด็นการเสียชีวิตของนายจามาล คาช็อกกี ขึ้นมาพูดคุย ซึ่งก่อนหน้านี้ เขาเคยกล่าวว่า จะทำให้ซาอุดีอาระเบียชาติมหาอำนาจในภูมิภาคเป็น "รัฐนอกคอก" ในเวทีโลก เนื่องจากเหตุฆาตกรรมนายคาช็อกกี



          สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นรายงานว่า มกุฎราชกุมารทรงตอบโต้ประธานาธิบดีไบเดนว่าไม่ได้อยู่เบื้องหลังเหตุลอบสังหารนายคาช็อกกีที่สถานกงสุลซาอุดีอาระเบียประจำอิสตันบูล แต่ประธานาธิบดีไบเดนแย้งว่าเขาไม่เห็นด้วยบนพื้นฐานการประเมินข่าวกรองของสหรัฐฯ



          มกุฎราชกุมารทรงอ้างถึงเหตุทหารสหรัฐฯ ละเมิดผู้ต้องขังในเรือนจำอาบู กราอิบ ของอิรัก และกรณีนาง ชีรีน อะบู อากิละฮ์ นักข่าวอเมริกันเชื้อสายปาเลสไตน์ ถูกสังหารในเขตเวสต์แบงก์ เมื่อเดือนพฤษภาคม ว่าเป็นเหตุการณ์ที่สะท้อนความเลวร้ายของสหรัฐฯ ทุกประเทศต่างก็เคยมีปัญหาและความผิดพลาดเกิดขึ้น รวมถึงสหรัฐฯ ซึ่งได้ใช้มาตรการต่างๆ ที่จำเป็นนำตัวผู้อยู่เบื้องหลังมาลงโทษ และจัดการกับความผิดพลาดเหล่านี้เหมือนกับซาอุดีอาระเบีย



          เจ้าชายไฟซาล บิน ฟาร์ฮาน อัล ซาอูด รัฐมนตรีการต่างประเทศซาอุดีอาระเบีย กล่าวว่า มกุฎราชกุมารทรงตอบโต้คำกล่าวของประธานาธิบดีไบเดน ว่าอาชญากรรมนี้ เป็นเรื่องเคราะห์ร้ายอย่างยิ่งและน่าขยะแขยงอย่างที่สุด เป็นสิ่งที่ซาอุดีอาระเบียจริงจังเป็นอย่างมาก และดำเนินการด้วยความรู้สึกเห็นใจในฐานะประเทศผู้รับผิดชอบ



          นายอาเดล อัล-จูเบอีร์ เจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงต่างประเทศซาอุดีอาระเบีย กล่าวว่า มีการสืบสวน ลงโทษ และรับรองว่าจะไม่เกิดขึ้นซ้ำอีก ซึ่งเป็นการทำงานในแบบเดียวกับทุกประเทศ รวมถึงสหรัฐฯ เมื่อครั้งที่เกิดเหตุที่อาบู กราอิบ



          เรือนจำ อาบู กราอิบ เป็นศูนย์กักกันแห่งหนึ่งของกองทัพสหรัฐฯ ที่ใช้คุมตัวชาวอิรักที่ถูกจับกุมในช่วงต้นๆ ของปฏิบัติการรุกรานอิรักในปี 2546 และปิดลงในปี 2549 ต่อมามีการเผยแพร่ภาพเหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นในเรือนจำ ซึ่งมีทหารอเมริกา 11 นายถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานก่ออาชญากรรม



          ส่วนนางชีรีน อะบู อากิละฮ์ ผู้สื่อข่าวชื่อดังของอัลจาซีเราะห์ ถูกทหารอิสราเอลยิงเสียชีวิตระหว่างปฏิบัติการจู่โจมเมืองเจนินในเขตเวสต์แบงก์ ขณะที่เธอสวมหมวกป้องกันและเสื้อเกราะสีน้ำเงินที่มีข้อความ "สื่อมวลชน"



....



#สหรัฐอเมริกา



#ซาอุดีอาระเบีย

ข่าวทั้งหมด

X